ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 35 ราย ในปท. 17-ตรวจเชิงรุก 8-ตปท.10

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.00 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 26,108 คน (+35)
    • เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 17 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 8 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 10 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศไม่เข้าสถานที่กักกัน = 0 ราย
  • รักษาหายแล้ว 25,483 คน (+63)
  • รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 541 คน
  • เสียชีวิตสะสม 84 คน (+0)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 35 ราย

ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 17 ราย จากสมุทรสาคร 9 ราย กรุงเทพฯ 3 ราย ปทุมธานี 3 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 1 ราย พระนครศรีอยุธยา 1 ราย, จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 8 ราย จากปทุมธานี 5 ราย สมุทรสาคร 3 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 10 ราย โดยผ่านการคัดกรองและเข้าสถานกักกัน 6 ราย โดยมาจาก ไนจีเรีย 2 ราย กานา 2 ราย ตุรกี 1 ราย เคนยา 1 ราย ส่วนอีก 4 ราย เดินทางมาจากเมียนมา 4 รายเป็นการเข้าประเทศตามเส้นทางธรรมชาติ

ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 26,108 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 8,744 ราย และการตรวจคัดกรองเชิงรุก 14,565 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2,799 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 25,483 ราย เพิ่มขึ้น 63 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 84 ราย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. กล่าวถึงกรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีประวัติเชื่อมโยง จ.ปทุมธานี 676 ราย พบกระจายไป 13 จังหวัด คือ ขอนแก่น ชัยนาท เพชรบุรี นครปฐม นครราชสีมา นครนายก นนทบุรี สมุทรปราการ สระบุรี อ่างทอง ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพฯ โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีความเชื่อมโยงกับตลาดพรพัฒน์ ตลาดสุชาติ ตลาดสี่มุมเมือง ในจ.ปทุมธานี โดยเป็นพ่อค้า/แม่ค้า และนำไปสู่การติดเชื้อภายในครอบครัวและผู้สัมผัสใกล้ชิดอื่นๆ โดยมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 1,055 ราย

“เป็นกลุ่มก้อนใหญ่ ที่พยายามจำกัดการติดเชื้อให้ได้”

นพ.ทวีศิลป์ระบุ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของกระทรวงสาธารณสุขวันนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้มอบนโยบายให้กับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องการฉีดวัคซีน โดยเน้นย้ำการดูแลผลกระทบข้างเคียงสำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว หลังจากพบว่ามีบุคลากรทางการแพทย์มีอาการแพ้วัคซีนหลังจากการฉีดไปแล้ว 3 ชั่วโมง ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขจะมีการชี้แจงรายละเอียดในช่วงบ่ายวันนี้ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้กำชับให้มีการสร้างความมั่นใจ และสร้างระบบในการให้ความช่วยเหลือในรายอื่นๆ หากเกิดการแพ้วัคซีนขึ้นมาอีก

ทั้งนี้ นายอนุทิน ได้เน้นย้ำให้ทางกระทรวงไม่ปิดกั้น กรณีที่ภาคเอกชนจะมีลงทะเบียนเพื่อนำเข้าวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ โดยมอบหมายให้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูล

นอกจากนี้ ในการประชุมศบค.ชุดเล็ก เมื่อช่วงเช้า ได้มีการหารือถึงการสนับสนุนการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-19 อยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ โดยสิ่งสำคัญ คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และผู้จัดกิจกรรมต้องมีความรู้ ความเข้าใจมาตรการต่างๆ และต้องมีความพร้อมระดับหนึ่ง รวมถึงต้องมีการวางแผนทั้งเรื่องการรอรับวัคซีนที่จะเข้ามา กิจการที่จะผ่อนคลายต่อไป และตัวเลขผู้ป่วยรายวันให้มีความสอดคล้องกัน เพื่อจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ เช่นกรณีการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกที่ ศบค.อนุญาตให้มีผู้เข้าชม 50% แต่ผู้จัดขอทดลองให้มีผู้เข้าชม 25% จึงขอชื่นชมผู้จัดที่เข้าใจ และพยายามปรับตัว เราไม่หวังให้เป็นศูนย์ แต่จัดสมดุลเรื่องตัวเลข มาตรการการผ่อนคลายให้เดินหน้าไปได้

สำหรับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 115,298,908 ราย เสียชีวิต 2,560,602 ราย ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 29,370,705 ราย อันดับสอง อินเดีย 11,139,323 ราย อันดับสาม บราซิล 10,647,845 ราย อันดับสี่ รัสเซีย 4,268,215 ราย และอันดับห้า สหราชอาณาจักร 4,188,400 ราย ส่วนประเทศไทย ยังอยู่ในอันดับที่ 114

ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศว่า ในภาพรวมของประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ของแต่ละสัปดาห์มีจำนวนลดลงกว่าที่ผ่านมา ส่วนพื้นที่ที่มีการระบาดสูง ยังคงมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง และยืนยันว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็น สมุทรสาคร กรุงเทพฯ และปทุมธานี

โดยสถานการณ์ใน จ.ปทุมธานี ที่ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อโควิด 676 ราย พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 1,055 ราย โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีความเชื่อมโยงกับตลาดสดใน จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นพ่อค้าหรือแม่ค้า และนำไปสู่การติดเชื้อภายในครอบครัวและผู้สัมผัสใกล้ชิดอื่นๆ

“แนวโน้มการพบผู้ป่วยลดน้อยลง เนื่องจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน…แต่ระบบการสอบสวนควบคุมโรค และมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกเข้มข้น ทำให้สามารถตรวจจับการระบาดได้หมด” นพ.โอภาสกล่าว

ส่วนสถานการณ์ใน จ.ตาก ที่ อ.แม่สอด ยอมรับว่ายังมีคนไทยจากฝั่งเมียนมาลักลอบข้ามกลับเข้าประเทศ แต่ระบบคัดกรองของฝ่ายความมั่นคงตามแนวชายแดนมีความเข้มแข็งมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาอย่างถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย ก็จะต้องส่งไปเข้ารับการกักกันตัว จึงทำให้ในภาพรวมพื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงปลอดภัย และสามารถควบคุมโรคได้

นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข นอกจากการสอบสวน และควบคุมโรคแล้ว ยังต้องมีการเฝ้าระวังโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคระบบทางเดินหายใจ (ARI) และปอดอักเสบ หรือปอดบวม โดยจะมีการสุ่มตรวจคัดกรองใน รพ.ทั่วประเทศ ซึ่งพบว่าอัตราการติดเชื้อโควิดยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะเดียวกัน ยังมีการเฝ้าระวังนอกสถานพยาบาลที่เคยพบว่ามีการระบาดของโรคด้วย เช่น เรือนจำ สถานพินิจ รวมทั้งการสุ่มตรวจในชุมชนต่างๆ เช่น ตลาดสด, สถานบันเทิง, สนามมวย, สถานที่ขนส่ง, สถานที่ต่ออายุบัตรแรงงานต่างด้าว, ห้างสรรพสินค้า, หน่วยราชการด่านหน้า, สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ, สถานศึกษา และศาสนสถาน เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 มี.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top