ผลหารือรัฐบาล พบเอกชน 2,629 รายขอออกค่าใช้จ่ายจัดหาวัคซีนโควิดให้พนักงาน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจความต้องการของภาคเอกชน พบว่ามีบริษัทเอกชน 2,629 แห่ง แจ้งความประสงค์การได้รับวัคซีน ซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง คิดเป็นจำนวนพนักงานรวมทั้งสิ้น 9.21 แสนคน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 เม.ย.) ซึ่งจะได้นำส่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรวัคซีนต่อไป

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนพร้อมที่จะสนับสนุนภาครัฐในการเร่งจัดหาวัคซีนทางเลือกให้ทันเวลา และพร้อมสนับสนุนภาครัฐให้สามารถบริหารจัดการกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

นายสนั่น กล่าวว่า หอการค้าไทย ได้รายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบความคืบหน้าการสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน การจัดหาวัคซีน และการวางระบบการกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะใช้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่นำร่อง รวมทั้งความร่วมมือต่าง ๆ กับภาคธุรกิจเอกชนที่มีความคืบหน้าไปมากพอสมควร

ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ตั้งคณะทำงานร่วมกัน 4 คณะ ทั้งภาครัฐ และหอการค้าไทย ถึง แผนการกระจายวัคซีน และวัคซีนทางเลือกของหอการค้าไทย รวมถึงการปรับกฎหมายต่างๆ เพื่อจัดหาวัคซีนได้รวดเร็ว โดยมีความคืบหน้าดังนี้

  • 1. TEAM Distribution and Logistics ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน
    • ระยะแรก ได้มีการจัดเตรียมพื้นที่นำร่องเสนอ กทม. 66 แห่ง โดยผ่านการคัดเลือก 14 แห่งกระจายทั่วกรุงเทพฯ แบ่งเป็น 5 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพเหนือ 2 จุด กรุงเทพใต้ 4 จุด กรุงเทพตะวันออก 3 จุด กรุงธนเหนือ 2 จุด และกรุงธนใต้ 3 จุด
    • ซึ่งจะมีทั้งสถานที่ที่เป็นศูนย์การค้า สำนักงาน และสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งสถานที่ทั้ง 14 แห่งดังกล่าว จะรองรับประชาชนได้ประมาณ 1,000-2,000 คนต่อวัน รวมแล้วสามารถให้บริการได้วันละ 20,500 คน ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมการให้บริการของกรุงเทพมหานคร
    • ระยะถัดไป จะหารือในการจัดทำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปยังจุดต่าง ๆ ตามชุมชน และบริษัทต่าง ๆ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชน โดยมีภาคเอกชนสนใจให้การสนับสนุนหลายแห่งจะนำต้นแบบ (Best Practice) ของพื้นที่เอกชนร่วมกับกรุงเทพฯ กระจายผ่านหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ในการช่วยบริหารจัดการสถานที่ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ

“ภาครัฐ ได้ยินดีและขอบคุณที่ภาคเอกชนเข้ามาเสริม เพื่อแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลที่ต้องรับผู้ป่วยปกติด้วย โดยจะทำแผนงานร่วมกันทั่วทั้งประเทศ”

นายสนั่นกล่าว
  • 2. TEAM Communication ทีมการสื่อสาร
    • สนับสนุนการทำงานด้านการสื่อสารของภาครัฐ เพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งจะเน้น ความสำคัญของการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง และอัพเดทข้อมูลที่ถูกต้องจากแหล่งข้อมูลทางการของภาครัฐ
    • ตั้งทีมคณะทำงาน ประกอบด้วยบริษัทชั้นนำ 20 บริษัท เพื่อระดมทรัพยากรและช่องทางการสื่อสาร อาทิ LINE, Google, Facebook, VGI, CP และบริษัทอื่นๆ ยินดีให้การสนับสนุนด้านการสื่อสารอย่างเต็มกำลังทั้ง Online และ Offline
  • 3. TEAM IT Operation ทีมเทคโนโลยีและระบบ
    • เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการลงทะเบียน และลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ ในศูนย์ปฏิบัติการของภาคเอกชน โดยนำเทคโนโลยีมาสนับสนุน ได้มีการหารือถึง solution ที่ควรจะเป็น เพื่อลดขั้นตอนระยะเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพ
    • หลังจากการสำรวจพื้นที่ ศึกษา “หมอพร้อม” เบื้องต้น และทำความเข้าใจขั้นตอนการฉีดวัคซีน ได้ทำหน้าที่เสนอแนวทางการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ เพิ่มความรวดเร็ว แม่นยำ ตลอดจนการนำเสนอ Best Practice ต่างๆ มาเป็นข้อมูล และให้การสนับสนุนทีมอื่นๆ หลายบริษัทที่เสนอตัวว่ามี Application ในลักษณะที่น่าจะนำมาประยุกต์ได้ เช่น กลุ่มปาร์คนายเลิศ เป็นลักษณะการลงทะเบียนและการจองคิว ซึ่งสามารถเปลี่ยนจาก Web Application เป็น mobile app ได้ รวมถึงการเสนอตัวของ QueQ, Line Application และ Grab
  • 4. TEAM Extra Vaccine procurement ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม
    • ทีมสำรวจความต้องการภาคเอกชน โดยทำแบบสอบถาม โดยให้บริษัทเอกชนแสดงความประสงค์ในการได้วัคซีน ซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ปัจจุบันมีผู้แจ้งความต้องการ 2,629 บริษัท จำนวนพนักงาน 921,817 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 28/4/2564) ซึ่งจะนำส่งให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรวัคซีนต่อไป
    • ทีมเจรจาวัคซีนทางเลือกเสริมจากภาครัฐ ซึ่งภาคเอกชน พร้อมที่จะสนับสนุนภาครัฐในการเร่งจัดหาวัคซีนทางเลือกให้ทันเวลา และพร้อมสนับสนุนภาครัฐให้สามารถบริหารจัดการกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

“นอกจากแผนการกระจายวัคซีนที่ภาคเอกชนจะไปสนับสนุนภาครัฐนั้น เรายังได้มีการหารือถึงแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะถัดไปอีกด้วย ทั้งเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ”

นายสนั่น กล่าว

พร้อมระบุว่า หอการค้าไทย ได้เสนอแผนที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งได้ทดลองทำ Sandbox ของกลุ่มค้าปลีก และทางธนาคารมาแล้ว เพื่อให้ SMEs เข้าถึง Soft Loan โดยพร้อมที่จะขยายผลต่อไป

นอกจากนั้น จะกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยผ่านโครงการ HUG THAIS ฮักไทย Love Thais, Help Thais “รวมใจ ไทยไม่ทิ้งกัน” โดยกระตุ้นภาคเอกชนและภาคประชาชนในการอุดหนุนสินค้าไทย และธุรกิจของผู้ประกอบการคนไทย รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งภาครัฐได้ให้ความมั่นใจว่า ภาครัฐได้มีการเตรียมการช่วยเหลือ SMEs ไว้ทั้งการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, การทำสินเชื่อ Factoring, Soft Loan, พักทรัพย์พักหนี้ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น ๆ ทั้งโครงการ “คนละครึ่ง” “ช้อปดีมีคืน” และอีกหลายโครงการที่สามารถเสริมกันได้อย่างแน่นอน และพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอภาคเอกชนเพื่อปรังปรุง กฎหมาย กฎระเบียบให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจได้สะดวก เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศในลำดับถัดไป

นายสนั่น กล่าวด้วยว่า ขอให้ภาคเอกชน และประชาชน สบายใจได้ว่าภายในปีนี้ประชาชนและผู้ที่ทำงานในประเทศไทย รวมถึงแรงงานได้รับการฉีดวัคซีนแน่นอน ซึ่งรัฐบาลจยืนยันจะจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดส ครอบคลุม 70% ของประชาชนทั้งประเทศ

“ถ้าเป็นลักษณะนี้ ก็สบายใจได้ว่า เราสามารถจะเปิดประเทศได้ต้นปีหน้า ภาคเอกชนตั้งใจที่จะสนับสนุนในการทำงานร่วมกับทางภาครัฐ และคิดว่าความร่วมมือเหล่านี้ จะทำให้เศรษฐกิจของเราขับเคลื่อนไปได้ แม้แต่ที่เราเรียกว่าภูเก็ตแซนบอกซ์โมเดลที่จะเกิด 1 ก.ค. ถ้าเป็นลักษณะนี้ ก็คิดว่าไม่พลาด และผมคิดว่าได้ตั้งวัคซีนทีมไทยแลนด์เกิดขึ้นแล้ว”

นายสนั่น กล่าว

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภาคเอกชนได้นำเสนอแนวทางการทำงานของหอการค้าไทยในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยจัดทำแผนตั้ง 4 ทีมสนับสนุน ซึ่งมีบริษัทที่มีความถนัดในธุรกิจนั้น ๆ มาช่วยกระจายฉีดวัคซีนล็อตใหญ่ที่จะเริ่มเข้ามาตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2564

นายกรัฐมนตรี ดีใจที่รัฐบาลและเอกชนจะร่วมมือ โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อมีการเปิดประเทศ นายกรัฐมนตรียังเน้นถึงบทบาทสำคัญของรัฐบาลเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ เอกชน ดูแลกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ให้เกิดความยืดหยุ่นและดำเนินการได้ พร้อมกับชี้แจงเรื่องการโอนอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีมาเป็นของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว ใน พ.ร.บ.ทั้ง 31 ฉบับ ตามประกาศการกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีฯ (ฉบับที่ 3) ไม่ใช่เรื่องใหม่เป็นการบูรณการกฎหมาย เพื่อแก้ไขสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณในเรื่องแผนการจัดหาวัคซีนเดิม จำนวน 63 ล้านโดส จัดหาเพิ่มเติม จำนวน 37 ล้านโดส เป้าหมาย 100 ล้านโดส เพื่อดูแลคนไทยทุกคนทั่วประเทศ รวมทั้งการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 เฉพาะหน้า โดยเฉพาะการนำผู้ป่วยเข้าถึงสถานพยาบาล การเตรียมพร้อมบุคลากร เครื่องมือ เตียง และยา

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมจะทำงานเคียงคู่ไปกับภาคเอกชน เน้นการทำงานที่มีผลสัมฤทธ์ โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งทีมประสานงาน เพื่อดำเนินกิจกรรมคู่ขนานร่วมกับทีมภาคเอกชนทั้ง 4 ทีม รวมถึงการมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปพิจารณาแนวทางการขึ้นทะเบียนสำหรับวัคซีนที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

นายกรัฐมนตรี ยังให้ความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยด้านสุขภาพของคนไทยทุกคน รวมทั้งแรงงาน และชาวต่างประเทศที่ทำงานในประเทศไทยด้วย ไม่เพียงเฉพาะโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เท่านั้น ยังรวมถึงโรคภัยอื่นๆ รวมทั้งเดินหน้าเศรษฐกิจ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) สำหรับ SMEs มาตรการเยียวยาผู้มีรายได้น้อย โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว และตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อรองรับการเปิดประเทศของไทยหลังวิกฤตโควิด-19 ด้วย

ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ที่ประชุมฯ เห็นชอบแนวทางความร่วมมือโดยใช้กลไกจากเอกชนเข้ามาช่วยในการจัดหาจุดฉีดวัคซีน และกระจายวัคซีนในกทม.และปริมณฑล ในส่วนของต่างจังหวัดผ่านกลไก กกร. พร้อมทั้งร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย ในการเร่งรัดจัดหาสถานที่ การกระจายวัคซีน และการเตรียมบุคลากรมาช่วยในจุดฉีดวัคซีน

ส่วนเรื่องการประชาสัมพันธ์ ภาคเอกชนจะเข้ามาช่วยภาครัฐในการประชาสัมพันธ์การจัดหาวัคซีน การกระจายวัคซีน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้น ขณะที่การสนับสนุนระบบงานต่างๆ ที่ปัจจุบันมีการให้ลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” ภาคเอกชนจะเข้ามาช่วยสนับสนุนด้วย

“นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นแม่งาน ประสานงานกับภาคเอกชน และให้สภาพัฒน์ ประสานในรายละเอียดกับภาคเอกชนโดยให้เริ่มทำงานร่วมกันตั้งแต่วันพรุ่งนี้” นายดนุชากล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 เม.ย. 64)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top