ADB มั่นใจผลงาน Q2/64 โตต่อเนื่อง-เจรจาพาร์ทเนอร์ใหม่ร่วมมือธุรกิจคอสเมติค

นางสาวพรพิวรรณ นิรมลเฉิดฉาย กรรมการผู้จัดการ บมจ. แอ็พพลาย ดีบี (ADB) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจในไตรมาส 2/64 ยังคงรักษาอัตรากำไรได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากรายได้ไตรมาส 1/64 ทำนิวออลไทม์ไฮที่ 404 ล้านบาท จากปีก่อนที่ 345 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 30.4 ล้านบาท เติบโต 104.57% จากปีก่อนที่ 14.78 ล้านบาท เนื่องจากตลาดในประเทศที่ยังคงแข็งแกร่ง มีออเดอร์ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกคอมปาวด์ จากภาครัฐ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกคอมปาวด์ที่ใช้ทางการแพทย์เละผลิตภัณฑ์ยาแนวเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับโรงงานใหม่สำหรับธุรกิจยาแนว ที่ปัจจุบันเริ่มสร้างรายได้เข้ามา รวมไปถึงการควบคุมต้นทุนการผลิตที่ดีขึ้น และมีการใช้วัตถุดิบของทางบริษัทเอง ทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ

และบริษัทยังคงมองหาการลงทุนใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกคอมปาวด์แบบ BioPlastic ซึ่งจะเน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกคอมปาวด์แบบ Medical Grade ซึ่งร่วมกับบริษัทโชวะ โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด ปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงประเมินและวางแผนขยายกำลังการผลิต ในส่วนของผลิตภัณฑ์กาวสำหรับภาคอุตสาหกรรมจะมีการทดลองไปยังตลาดใหม่ ๆ รวมทั้งทางบริษัทยังอยู่ระหว่างเจรจากับทางพาร์ทเนอร์ใหม่ร่วมมือในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเครื่องสำอางอีกด้วย

สำหรับแผนจัดการธุรกิจในครึ่งปีหลังบริษัทยังคงมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจหลัก 3 ด้าน คือ

  • 1) ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกคอมปาวด์ (Plastic Compound)
  • 2) กาวสำหรับภาคอุตสาหกรรม (Adhesive)
  • 3) ผลิตภัณฑ์ยาแนว(Sealant & DIY) ให้อยู่ในมาตรฐานที่ดี รวมไปถึงการควบคุมต้นทุนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลเป็นประโยชน์กับยอดขายของทางบริษัท

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1/64 บริษัททำรายได้นิวออลไทม์ไฮที่ 404 ล้านบาท สามารถจำแนกรายได้ออกเป็น 3 ประเภทคือ

  • 1) รายได้จากผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกคอมปาวด์ 257 ล้านบาท คิดเป็น 64% ของรายได้ทั้งหมด แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์สายไฟและสายเคเบิ้ล 169 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทางการแพทย์ 48 ล้านบาท และ ผลิตภัณฑ์ใช้งานทั่วไปอื่น ๆ เช่น งานเฟอร์นิเจอร์ งานรองเท้า 40 ล้านบาท โดยตลาดส่วนใหญ่จะเป็นตลาดในประเทศ 96.7% ส่วนตลาดต่างประเทศคือตลาดเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • 2) รายได้จากกาวสำหรับภาคอุตสาหกรรม 43 ล้านบาท คิดเป็น 10% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อการส่งออกและส่งผลให้อุตสาหกรรมแฟชั่นหดตัวลง โดยตลาดในประเทศคิดเป็น 69% และตลาดต่างประเทศ 31% ในแถบเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกา
  • 3) รายได้จากผลิตภัณฑ์ยาแนว 104 ล้านบาท คิดเป็น 26% ของรายได้ทั้งหมด แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ซิลิโคนเชิงพาณิชย์หรือบรรจุเป็นหลอด 65 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ DIY 32 ล้านบาท และ สินค้าอื่น ๆ 6 ล้านบาท โดยตลาดในประเทศคิดเป็น 42.7% และตลาดต่างประเทศ 57.3%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 พ.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top