(เพิ่มเติม1) ศบค.พบผู้ติดโควิดใหม่ 1,763 ราย ในปท.1,519-ตรวจเชิงรุก 231-ตปท.13-ตาย 27

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,763 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 72,788 ราย ขณะที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 27 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 303 ราย

โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,763 ราย ประกอบด้วย

- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,519 ราย

- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 231 ราย

- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศผ่านการคัดกรองและเข้าสถานกักกัน 13 ราย มาจากมาเลเซีย 4 ราย อียิปต์ 3 ราย ปากีสถาน 2 ราย อินเดีย ไนจีเรีย อิตาลี ซูดาน ประเทศละ 1 ราย ซึ่งให้ฝ่ายควบคุมโรคจับตากรณีผู้ที่เดินทางมาจากประเทศอียิปต์

ขณะที่ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 27 ราย เป็นชาย 21 ราย หญิง 6 ราย อายุ 25-92 ปี อยู่ในกรุงเทพฯ 8 ราย นนทบุรี 5 ราย ลำพูนและสมุทรปราการ จังหวัดละ 2 ราย ชลบุรี อุบลราชธานี ปทุมธานี นครปฐม บุรีรัมย์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กำแพงเพชร ชัยนาท และน่าน จังหวัดละ 1 ราย

โดยผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวและปัจจัยเสี่ยงต่องอาการรุนแรง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง ไทรอยด์ อ้วน มะเร็ง ปอดเรื้อรัง และไตเรื้อรัง ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อจากสมาชิกในครอบครัว สัมผัสเพื่อร่วมงาน สัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อยืนยัน พนักงานสถานบันเทิง ไปสถานที่แออัดและตลาด

ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 72,788 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 45,288 ราย ตรวจคัดกรองเชิงรุก 22,642 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3,339 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 42,474 ราย เพิ่มขึ้น 1,490 ราย กำลังรับการรักษา 30,011 ราย อาการหนัก 1,009 ราย ในจำนวนนี้ใส่เครื่องช่วยหายใจ 311 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 303 ราย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.กล่าวว่า เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลระลอกเดือนเมษายนมีสัดส่วนสูงกว่าอีก 73 จังหวัดที่เหลือ ดังนั้นหากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ก็จะให้แกปัญหาได้เกินครึ่ง เช่น พื้นที่ชุมชนแออัด 6 แห่งในเขตปทุมวัน พบผู้ติดเชื้อ 161 ราย, พื้นที่ชุมชนแออัดสี่แยกมหานาค เขตดุสิต พบผู้ติดเชื้อ 80 ราย, พื้นที่โรงงานย่านพระสมุทรเจดีย์ พบผู้ติดเชื้อ 160 ราย

ที่ประชุม ศบค.นัดพิเศษเมื่อวานนี้เตรียมแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดเพื่อบูรณาการการแก้ปัญหาโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในชื่อ "ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพฯ และปริมณฑล" ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ

นอกจากนี้ยังให้ยกระดับการทำงานของผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขตของกรุงเทพฯ ที่ดูแลศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในระดับเขต โดยมีฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายตรวจปฏิบัติการเชิงรุก ฝ่ายบริหารจักการผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง ฝ่ายบริหารพื้นที่ ฝ่ายบริหารการฉีดวัคซีน เนื่องจากในพื้นที่กรุงเทพฯ มีประชากรกว่า 10 ล้านคน

"ต้องรีบแยกผู้ป่วยออกจากคนปกติ จะต้องทำให้เป็นระบบและรวดเร็วด้วยทุกศูนย์ทุกเขต ทั้ง 50 เขตจะต้องลงพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน ต้องทำ active case finding แยกกลุ่มป่วยกลุ่มเสี่ยงโดยเร็ว" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

โฆษก ศบค.กล่าวว่า EOC กระทรวงสาธารณสุขยังเตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยติดเชื้อระดับสีเหลือง หากเข้ารับการรักษาใน รพ.สนามที่เป็นผู้ป่วยระดับสีเขียวแล้วมีอาการรุนแรงขึ้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเตียงในโรงพยาบาล ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบกำลังเร่งดำเนินการ และต้องขอความร่วมมือจากแพทย์ที่มีจิตอาสาเข้ามาช่วยเหลือ โดยสามารถเข้าไปลงทะเบียนได้ในกลุ่มไลน์ @thaimedvolunteer

สำหรับการฉีดวัคซีนนั้นจะช่วยให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วมีภูมิต้านทานเพียงพอหากติดเชื้อจะไม่มีอาการรุนแรง ส่วนการให้ยารักษานั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่จะดูจากข้อบ่งชี้ ซึ่งจะช่วยให้การใช้ยาไม่เกิดความสูญเปล่า และเกิดอาการดื้อยา โดยจะมีทีมแพทย์คอยติดตามสถานการณืและปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งที่ผ่านมามีการรับฟังคำแนะนำที่เกิดประโยชน์มาปรับใช้ตลอดเวลา

ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกล่าสุดวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 154,178,224 ราย เสียชีวิต 3,226,875 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 33,230561 ราย อันดับสอง อินเดีย 20,275,543 ราย อันดับสาม บราซิล 14,791,434 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,656,007 ราย และอันดับห้า ตุรกี 4,900,121 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 99