ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 33.37 ระหว่างวันมีแรงขายพันธบัตร คาดกรอบพรุ่งนี้ 33.25-33.45

          นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 33.37 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวเท่ากับ
เปิดตลาดเมื่อเช้าที่ระดับ 33.37 บาท/ดอลลาร์
          ปิดตลาดวันนี้เงินบาทค่อนข้างสวนทางกับภูมิภาคที่ปรับตัวแข็งค่า หลังดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า เนื่องจากมีปัจจัยจากเงินทุนต่าง
ประเทศไหลออก หลังต่างชาติขายพันธบัตรกว่า 9.4 พันล้านบาท โดยระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.24 - 33.37 บาท/
ดอลลาร์
          "บาทปิดตลาดทรงตัวเท่าช่วงเช้า ระหว่างวันแข็งค่า แต่มีแรงขายพันธบัตรออกมามาก ทำให้บาทกลับมาอ่อนค่า" นักบริหาร
เงิน กล่าว
          นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 33.25 - 33.45 บาท/ดอลลาร์

          * ปัจจัยสำคัญ

          - เงินเยน อยู่ที่ระดับ 115.36 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 115.38 เยน/ดอลลาร์
          - เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.1221 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1210 ดอลลาร์/ยูโร
          - ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,648.46 จุด ลดลง 1.36 จุด (-0.08%) มูลค่าการซื้อขาย 73,548 ล้านบาท
          - สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 315.51 ลบ. (SET+MAI)
          - คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบการปรับแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้เดินทางในการเข้าราชอาณาจักร ตามแผนการ
เปิดประเทศ ระยะที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 - 31 ธันวาคม 2564 โดยจะเริ่มใช้ในวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ได้แก่ การปรับวันกักตัว ปรับ
วิธีการตรวจในทุกรูปแบบที่เดินทางเข้ามาในประเทศ คาดเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พิจารณาให้ความเห็นชอบในวัน
พรุ่งนี้
          - สำนักวิจัยซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 65 จะขยายตัวได้ 3.8% ดีขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ที่ 3.2% 
โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญจากภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวดีจากเศรษฐกิจต่างประเทศที่ฟื้นตัว, สถานการณ์ท่องเที่ยวที่จะเริ่มกลับมา ซึ่งคาด
ว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยราว 5.1 ล้านคน และกำลังซื้อจากภายในประเทศ ที่เริ่มฟื้นตัวหลังจากคลายล็อกดาวน์และเปิด
ประเทศ
          - สำนักวิจัยซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) คาดเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าไปแตะที่ระดับ 34 บาท/ดอลลาร์ ได้ในช่วงกลางปี 65 
จากผลของการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เงินทุนไหลออก ประกอบกับไทยยังมีการขาดดุลบัญชีเดิน
สะพัด แต่คาดว่าเงินบาทจะเริ่มกลับมาแข็งค่าที่ระดับ 33.50 บาท/ดอลลาร์ในช่วงปลายปี หลังจากที่ดุลบัญชีเดินสะพัดพลิกมาเกินดุลในครึ่ง
ปีหลัง
          - ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประมาณการครั้งที่ 2 ของเยอรมนี ไตรมาส 3 ปีนี้ ขยายตัว 2.5% เมื่อเทียบ
กับไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยการบริโภคภาคครัวเรือนเยอรมนีปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่เศรษฐกิจเยอรมนียังคงได้รับปัจจัยกดดันจากหลายส่วน 
ทั้งการใช้จ่ายของรัฐบาล การลงทุน การค้าต่างประเทศ การส่งออก และการนำเข้า ซึ่งล้วนปรับตัวลดลงทั้งหมดเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
หน้า
          - ญี่ปุ่นปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การบริโภคเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน เนื่องจากการใช้จ่ายภาคบริการปรับตัวขึ้น แต่ได้
ปรับลดคาดการณ์ต่อการส่งออกและการผลิตลง จากผลพวงของปัญหาเรื้อรังด้านอุปทานและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน
          - คณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) คาดการณ์ว่า การที่สหรัฐและประเทศพันธมิตร 
ร่วมมือกันระบายน้ำมันออกจากคลังสำรองนั้น จะทำให้อุปทานน้ำมันส่วนกินในตลาดโลกเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปีหน้า
          - ธนาคารกลางเกาหลีใต้ ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1% โดยมีเป้าหมายที่จะสกัดการพุ่งขึ้นของเงิน
เฟ้อและหนี้สินภาคครัวเรือน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวันนี้ถือเป็นการยุติการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับใกล้ 0% เป็นเวลานานถึง 20 
เดือน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดในประเทศ