ไบเดนเรียกร้องวุฒิสภาไฟเขียวมาตรการเยียวยาโควิด 1.9 ล้านล้านดอลลาร์โดยเร็ว

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐออกมาเรียกร้องให้วุฒิสภาเร่งอนุมัติร่างกฎหมายเยียวยาผลกระทบจากโรคโควิด-19 วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ที่เพิ่งผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐในวันเสาร์ (27 ก.พ.) ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากสมาชิกพรรครีพับลิกัน

"ตอนนี้ร่างกฎหมายเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ถูกย้ายไปยังวุฒิสภาแล้ว และผมก็หวังว่ามันจะได้รับการดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพราะเราไม่มีเวลาเหลือพออีกแล้ว" ปธน.ไบเดนกล่าวที่ทำเนียบขาว

ปธน.ไบเดนระบุว่า "หากเราเริ่มดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้ด้วยความเด็ดขาด รวดเร็ว และกล้าหาญ เราก็จะขึ้นมาก้าวนำไวรัสตัวนี้ได้ในที่สุด และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเราให้ดำเนินต่อไปได้อีกครั้ง"

"ผู้คนในประเทศนี้ต้องอดทนกับความทุกข์ทรมานมานานเกินไปแล้ว เราจำเป็นต้องบรรเทาความทุกข์เหล่านั้นให้หมดไปโดยเร็ว" ปธน.ไบเดนกล่าวเสริม พร้อมระบุว่า "นี่ถึงเวลาแล้วที่เราต้องลงมือทำ"

ด้านนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านทางทวิตเตอร์ว่า "ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์และชาวเมริกันคนหนึ่ง ดิฉันขอปรบมือให้กับสภาผู้แทนราษฎรที่ให้ความเห็นชอบต่อแผนการช่วยเหลือชาวอเมริกันฉบับนี้"

"เหล่านักเศรษฐศาสตร์ต่างก็มีมติเห็นพ้องกันในวงกว้างว่า ผู้คนจำนวนมากต้องได้รับความช่วยเหลือไปจนกว่าที่สถานการณ์ไวรัสจะควบคุมได้ และแผนการนี้ของเราก็กำลังทำเช่นนั้นอยู่" นางเยนเลนกล่าว

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีชื่อว่า "American Rescue Plan" ในวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ที่เพิ่งผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ และจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของวุฒิสภาในสัปดาห์หน้านั้น ครอบคลุมถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากระดับ 7.25 ดอลลาร์/ชั่วโมงในปัจจุบัน สู่ระดับ 15 ดอลลาร์, เพิ่มวงเงินในการส่งเช็คเงินสดให้แก่ชาวอเมริกันเป็นคนละ 2,000 ดอลลาร์ จากเดิมที่ได้คนละ 600 ดอลลาร์, เพิ่มวงเงินช่วยเหลือคนตกงานเป็น 400 ดอลลาร์/สัปดาห์และให้ขยายโครงการช่วยเหลือไปจนถึงสิ้นเดือนก.ย.

ก่อนหน้านี้ สภาคองเกรสให้ความเห็นชอบต่อแนวทางการพิจารณาอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดนแบบ fast track โดยใช้แนวทางการจัดทำงบประมาณที่เรียกว่า budget reconciliation ซึ่งจะปูทางให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสามารถให้การรับรองงบประมาณดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง แทนที่จะใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 สำหรับการผ่านกฎหมายทั่วไป ทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวสามารถผ่านสภาคองเกรสโดยไม่จำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรครีพับลิกัน

ขณะนี้ พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ส่วนในวุฒิสภานั้น พรรคเดโมแครตและรีพับลิกันมีคะแนนเสียงเท่ากัน 50-50 เสียง ดังนั้น การที่วุฒิสภาจะให้การอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว จึงจำเป็นต้องอาศัยคะแนนเสียงชี้ขาด 1 เสียงจากนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งจะลงคะแนนเสียงในฐานะประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขว่า วุฒิสมาชิกสังกัดพรรคเดโมแครตจะไม่สามารถแตกแถวแม้แต่เสียงเดียว