ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 33.45 อ่อนค่าต่อจากช่วงเช้ารับเม็ดเงินไหลออก นลท.รอผลเฟดคืนนี้

          นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ 33.45 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากเปิด
ตลาดเมื่อเช้านี้อยู่ที่ระดับ 33.38/40 บาท/ดอลลาร์
          วันนี้เงินบาทปิดอ่อนค่า โดยระหว่างวันเคลื่อนไหวในกรอบ 33.37-33.48 บาท/ดอลลาร์ แกว่งตัวในกรอบใกล้เคียงกับ
ภูมิภาค จากกระแสเงินทุนที่ไหลออก เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรไทยประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท รวมทั้งมีความกังวลต่อ
เศรษฐกิจโลก เช่น บริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ที่ขาดสภาพคล่อง ส่งผลให้ตลาดซื้อขายอย่างระมัดระวังสำหรับสกุลเงินตลาดเกิดใหม่
          ทั้งนี้ ตลาดรอติดตามผลการประชุมจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะเกิดขึ้นคืนนี้เป็นหลัก
          นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทของวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 33.30-33.50 บาท/ดอลลาร์ 
          
          * ปัจจัยสำคัญ

          - เงินเยนอยู่ที่ระดับ 109.49 เยน/ดอลลาร์ จากเมื่อเช้าที่ระดับ 109.37 เยน/ดอลลาร์
          - เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1732 ดอลลาร์/ยูโร จากเมื่อเช้าที่ระดับ 1.1725 ดอลลาร์/ยูโร
          - ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,619.59 จุด เพิ่มขึ้น 4.73 จุด (+0.29%) มูลค่าการซื้อขาย 79,028 ล้านบาท
          - สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 1,032.19 ลบ.(SET+MAI)
          - โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความเห็นจากหน่วยงานด้านเศรษฐกิจการคลัง/การวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการ
พัฒนาประเทศไทย (TDRI) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมทั้งภาคเอกชน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภา
อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ชี้ว่าการปรับเพดานหนี้สาธารณะ จาก 60% เป็น 70% เหมาะสมกับสถานการณ์ประเทศในขณะ
นี้ โดยเป็นไปเพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับการดำเนินนโยบายเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และพยุงการฟื้นตัวของ
เศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
          - ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ชี้การขยายวงเงินเพดานหนี้สาธารณะของไทยเป็น 70% จากเดิมที่ 60% จะช่วยทำให้ความ
สามารถในการใช้นโยบายการคลังเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น แต่ต้องติดตามว่าการกู้ยืมเงินของภาครัฐที่เพิ่มเข้ามา จะสามารถนำ
มาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร และในอนาคตต้องติดตามเรื่องการเพิ่มรายได้เข้ารัฐ ซึ่งจะต้องมีการพิจารณา
ฐานภาษีที่จะเป็นรายได้กลับมาเข้ารัฐในการนำไปชำระคืนหนี้
          - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น ตามความต้องการระดมทุน
ในประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงจังหวะการลดวงเงิน QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยคาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี
ของไทยมีแนวโน้มทยอยเพิ่มสูงขึ้น จากระดับประมาณ 1.80% ในปัจจุบัน ไปที่ระดับ 1.90% ในช่วงสิ้นปี 2564
          - นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เชื่อว่า ภาคการส่งออก ยังคงเป็นความหวังที่จะขับเคลื่อน
เศรษฐกิจให้กับประเทศได้ แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด โดยจะเห็นว่าการส่งออกไทยขยายตัวสูงต่อเนื่องตลอด 5 เดือน และยังสามารถทำ
สถิติสูงสุดในรอบ 11 ปีเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ประกอบกับมีแรงหนุนจากเงินบาทอ่อนค่า และเศรษฐกิจของ
ประเทศคู่ค้าทยอยฟื้นตัว
          - ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของไทยในปี 64 ลงมาอยู่ที่ 0.8% จากที่เคยคาด
การณ์ที่ 3% และปรับลดแนวโน้มเศรษฐกิจของปี 65 ลงเหลือ 3.9% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 4.5% โดยระบุว่าการแพร่ระบาดของโควิด-
19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเดินหน้าไม่ได้เต็มที่ รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความล่าช้าของแผน
วัคซีนของประเทศ ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย
          - อดีตที่ปรึกษาของธนาคารกลางจีน (PBOC) ระบุว่า วิกฤตหนี้สินมูลค่ามหาศาลของบริษัทเอเวอร์แกรนด์จะฉุดรั้งการขยาย
ตัวของเศรษฐกิจจีน แต่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินของประเทศเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
          - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า ได้ติดตามสถานการณ์ของบริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ปอย่างใกล้
ชิด แต่เชื่อว่าจีนจะมีวิธีป้องกันสถานการณ์ดังกล่าวไม่ให้กลายเป็นวิกฤติเชิงระบบ
          - ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังการประชุมในวันนี้ว่า BOJ จะจับตาสถานการณ์ใน
ตลาดอย่างใกล้ชิด หลังจากตลาดการเงินได้รับผลกระทบอย่างหนักจากความกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทเอเวอร์แกรนด์ 
กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับสองของจีน
          - ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศ
อุตสาหกรรมใหม่ในเอเชียปีนี้ลงสู่ระดับ 7.1% เนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยตัวเลขดังกล่าวลดลง
จากระดับ 7.2% ที่คาดการณ์ไว้ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา และลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนเม.ย.ซึ่งอยู่ที่ระดับ 7.3%