สธ.แจงยิบที่มาการจัดซื้อวัคซีนโควิด ยันไร้ผลประโยชน์แฝง-โต้เสียงวิจารณ์

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ร่วมแถลงชี้แจงข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการได้มาของวัคซีนต้านโควิด-19 โดยประเด็นความล่าช้า ราคาแพง ไม่ครอบคลุมประชาชน และมีการเจรจาติดผู้ผลิตเพียง 2 ราย ปิดโอกาสเข้าถึงของผู้ผลิตรายอื่น

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รัฐบาลก็ได้เล็งเห็นว่าการได้วัคซีนมาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนเป็นเครื่องที่สำคัญสิ่งหนึ่ง แม้จะไม่ใช่ทั้งหมดของการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งกระบวนการจัดหาไม่ได้ล่าช้า เพราะเริ่มต้นตั้งแต่มีการทดลองวัคซีนในประเทศต่าง ๆ ในช่วงกลางปี 62 โดยมีกลไกชัดเจน และมีฝ่ายต่าง ๆ เกี่ยวข้อง

โดยฝ่ายสาธารณสุข ได้ศึกษาและติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาและทดลองวัคซีนมาตลอดว่ามีใครทำอะไรไปถึงไหน แต่ในระยะนั้นยังมีข้อมูลจำกัด เพราะไม่ได้มีสินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตออกมาแล้วเหมือนยาประเภทอื่น ดังนั้น หลายเรื่องต้องเป็นการคาดการณ์ และวางแผนเพื่อดำเนินการในอนาคต

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าว่าในปี 64 บนความเป็นไปได้ในการทดลองวัคซีนต้านโควิดเฟสที่ 3 ได้ในปลายปี 63 และจากกระบวนการต่าง ๆ น่าจะทำให้ประเทศไทยได้รับวัคซีนมาให้ครอบคลุม 50% ของจำนวนประชากร โดยจะมาจาก 3 ช่องทางคือ ช่องทางที่ 1. เข้าไปร่วมแสดงความสนใจสั่งซื้อวัคซีนจากโคแวก ที่จะนำวัคซีนหลายเจ้ามารวมกันลงถังกลางให้ประเทศที่สนใจซื้อ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง จึงได้วัคซีนมาในราคาค่อนข้างสูงกว่าประเทศที่มีรายได้ต่ำ

"เราเจรจาไปหลายครั้ง และรอความคืบหน้าวัคซีนที่มาใส่ถังกลาง คนที่ดีลกับเรา เป็นหน่วยงานระหว่างประเทศ อาจมีความยุ่งยากในการทำสัญญาจองซื้อ รวมถึงการได้วัคซีนมายังเป็นปัญหา แต่เราก็ยังไม่ได้ทิ้ง ถึงแม้ประเมินจนถึงปัจจุบันคงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก โดยคาดหวังจำนวนราว 20% ของ 50% ที่ตั้งเป้าไว้" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุ

ช่องทางที่ 2 คือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่จะผลิตในประเทศไทยจากแอสตร้า เซนเนก้า จำนวน 26 ล้านโดส หรือราว 20% ส่วนอีก 10% เปิดทางสำหรับบริษัทอื่น ๆ ที่จะมีผลการทดลองเป็นระยะ เราติดตามโดยตลอด ศึกษาทุกเจ้าที่ผลิตวัคซีน แต่ไม่ได้เปิดเผยกับสาธารณะ เพราะการได้ข้อมูลมาต้องมีข้อตกลงกับบริษัทนั้น ๆ เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้วย เพราะฉะนั้น เราไม่ได้แทงม้าตัวเดียว

ส่วนช่องทางที่ 3 กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ละเลยเรื่องการสนับสนุนให้มีการพัฒนาและผลิตวัคซีนต้านโควิดเองในประเทศ เพราะระยะยาวการสนับสนุนคนไทยผลิตวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำได้ ก็เป็นเรื่องสำคัญ

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สถานการณ์วัคซีนโควิด-19 ไม่ได้มีข้อมูลสำเร็จรูป ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง หลายเรื่องต้องมีการวางแผนล่วงหน้า มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หรือแนวทางตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การที่เราได้สัญญาซื้อวัคซีนจำนวนหนึ่งจากบริษัท ซิโนแวก ไบโอเทค ประเทศจีน ที่จะได้รับในเดือน ก.พ.-เม.ย.64 และจากแอสตร้าฯ ช่วงปลายเดือน พ.ค.64 นอกจากนั้นก็จะเจรจาขอซื้อเพิ่มเติมเพื่อให้ครบ 50% ที่ตั้งเป้าไว้

"ในปี 64 ถือว่าอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้ ไม่ได้ล่าช้าเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ เพราะส่วนใหญ่ประเทศที่ฉีดก่อนจองซื้อตั้งแต่การวิจัยวัคซีนยังเป็นวุ้น แต่เราใช้ความรอบคอบในการดำเนินการ"นพ.ศุภกิจ กล่าว

ขณะที่ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดหาวัคซีนเป็นภาวะเร่งด่วนและมีความไม่แน่นอน เพราะการจัดหาด้วยการจองล่วงหน้าต้องใช้หลายองค์ประกอบ ไม่ใช่แค่การเจรจาจัดซื้อเหมือนวัคซีนทั่วไป เพราะต้องพิจารณารูปแบบวัคซีน แนวโน้มจะใช้การได้อย่างไร และมีแนวโน้มจะนำมาใช้ในประเทศไทยได้อย่างไร

กรณีของแอสตร้าฯ ไม่ใช่เป็นการจองซื้อทั่วไป แต่มีข้อตกลงในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้ไทยด้วย บริษัทจะเป็นต้องหาผู้มารับเทคโนโลยีในช่วงเวลาเร่งด่วน จึงต้องเป็นผู้พร้อมที่สุดมีความสามารถมากที่สุด แอสตร้าฯ ได้ทบทวนคุณสมบัติบริษัทต่าง ๆ ก็เห็นว่ามีเพียงสยามไบโอไซเอนซ์ที่มีความพร้อม แม้กระทั่งองค์การเภสัชกรรมยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ

"เพราะเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ คนที่มาสอนก็ต้องไม่เสียเวลา แอสตร้าฯ เป็นผู้คัดเลือก เกิดจากการทำงานร่วมกันของอ็อกซ์ฟอร์ด และเครือ SCG แล้วเครือ SCG ก็เป็นหน่วยงานที่พัฒนาเรื่องนวัตกรรมกับอ็อกซ์ฟอร์ด ที่ดึงให้มาประเมินสยามไบโอไซเอนซ์ แอสตร้าฯ ก็มีนโยบายขยายฐานการผลิตไปทั่วโลก แต่ละแห่งต้องผลิตระดับ 200 ล้านโดสต่อปีขึ้นไป คุณสมบัติสยามไบโอไซเอนซ์เข้ากับหลักเกณฑ์ของแอสตร้าฯ" นพ.นครกล่าว

การที่ประเทศไทยได้ข้อตกลงลักษณะนี้กับแอสตร้านั้น มีหลายประเทศก็อยากได้ มีผู้เข้ามาแข่งขัน แต่ความพยายามในการทำงานของทีมประเทศไทยด้วยการเจรจาและแสดงศักยภาพให้เขาเห็น อีกทั้งรัฐบาลมุ่งมั่นสนับสนุน ทำให้สยามไบโอไซเอนซ์ปรับเพิ่มขีดความสามารถมาผลิตวัคซีนได้ จากเดิมที่ผลิตชีววัตถุ หรือยาที่ใช้เพิ่มจำนวนเม็ดเลือดในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเป็นหลัก โดยรัฐบาลให้งบประมาณสนับสนุน 595 ล้านบาท และเครือ SCG สนับสนุนอีก 100 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ จนทำให้ผ่านการคัดเลือกของแอสตร้าฯ

สำหรับการขาดทุนของ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นการขาดทุนเพื่อกำไรของประเทศไทยที่สามารถผลิตชีววัตถุได้ ลดการนำเข้าได้มหาศาล แต่ผู้เห็นข้อมูลไม่ครบ จึงคิดว่าเป็นการสนับสนุนบริษัทที่ขาดทุน และการที่ทำงานมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรามีต้นทุนด้านคน และความรู้ ทำให้ได้รับการคัดเลือกจากแอสตร้าฯ ถ้าไม่ได้ทำไว้ 10 ปีก็คงไม่มีวันนี้ ที่ทำให้เราได้เข้าถึงวัคซีน รวม 61 ล้านโดส

" เราซื้อวัคซีนจากแอสตร้าฯ มาจ้างให้สยามไบโอไซเอนซ์ผลิตให้ แต่จะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ด้วย ลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรูปแบบการให้เปล่า การจัดซื้อจากแอสตร้าฯ ใช้แบรนด์แอสตร้าฯ ขายให้ประเทศไทยบนพื้นฐานของ No Profit No Loss คิดราคาทุน ค่าจ้างผลิตจึงเป็นการคิดราคาทุนเช่นกัน เสมือนว่าผลิตตามคำสั่งซื้อของแอสตร้าฯ ในการราคาต้นทุน เพื่อให้แอสตร้าฯ ขายให้เราและประเทศอาเซียนในราคาต้นทุน ไม่มีกำไร แต่ทุ่มเทเพื่อให้ได้วัคซีน จะเห็นว่าราคาถูกสุดในตลาด" นพ.นคร กล่าว

นพ.นคร เชื่อว่า การจัดหาวีคซีนจะเพียงพอกับความต้องการของประชาชนแน่นอน ไม่ต้องกังววล เพราะเรามีศักยภาพในการผลิตวัคซีนในประเทศ แม้จะเป็นสิทธิในการจำหน่ายของแอสตร้าฯ แต่อยู่บนฐานความร่วมมือ และเราก็สามารถพัฒนาตัวเองได้ในอนาคตหากมีการระบาดใหม่

สถาบันฯ ยังได้ของบประมาณเพื่อสนับสนุนทุกหน่วยงานในประเทศให้สามารถผลิตวัคซีนได้ โดย ครม.อนุม้ติให้งบประมาณทุกหน่วยงานที่กำลังวิจัยเพื่อให้สามารถผลิตวัคซีน ซึ่งจะเป็นกำลังสำรองที่ทำให้เราจะสามารถมีวัคซีน แม้ว่าจะช้า อย่างกรณีไบโอเทค ของ สวทช.ก็กำลังผลิตวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำ หากมาเชื่อมต่อก็จะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนได้เองตั้งแต่ต้นจนจบ

ทั้งนี้ เป้าหมาย 50% เป็นของปี 64 หรือจำนวน 60-70 ล้านโดส เราไม่จำเป็นต้องเดือดร้อนหาวัคซีนมาทีเดียวให้เต็มจำนวนประชากรไทย เพราะยูนิเซฟคาดว่าปริมาณวัคซีนจะเพียงพอสำหรับคนทั้งโลก แต่ขณะนี้เป็นภาวะเร่งด่วน การรีบร้อนนำวัคซีนมาใช้อาจมีข้อเสีย เพราะผู้ใช้ในประเทศก่อนหน้านี้มีการเจ็บป่วยจากการใช้วัคซีน หากรีบร้อนอาจไม่ปลอดภัย จริงอยู่อาจมีผลข้างเคียง ถ้าเป็นผลข้างเคียงในระดับที่ยอมรับได้ก็ไม่เป็นไร แต่ต้องระวังหากมีผลข้างเคียงรุนแรง