ดาวโจนส์ฟิวเจอร์พลิกร่วงแดนลบ หลังพุ่งกว่า 200 จุดช่วงแรก

ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์พลิกร่วงลงสู่แดนลบ หลังพุ่งขึ้นกว่า 200 จุดในช่วงแรก โดยดัชนีถูกกระทบจากการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ณ เวลา 20.57 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ลบ 24 จุด หรือ 0.08% สู่ระดับ 31,334 จุด

ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 100 จุดเมื่อคืนนี้ โดยถูกกดดันจากการที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะฟองสบู่ในตลาดการเงินทั่วโลก

ทั้งนี้ นายเกา ชู่ฉิง ประธานคณะกรรมการฝ่ายกำกับดูแลด้านการธนาคารและการประกันของจีน (CBIRC) กล่าวว่า ตลาดการเงินในสหรัฐและยุโรปอาจเผชิญกับภาวะฟองสบู่แตก เนื่องจากการพุ่งขึ้นของตลาดกำลังอยู่ในทิศทางตรงกันข้ามกับภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริง และมีแนวโน้มว่าตลาดจะเผชิญกับการปรับฐานในไม่ช้านี้

คำเตือนของนายเกาส่งผลให้นักลงทุนวิตกว่า จีนอาจจะใช้นโยบายควบคุมการขยายตัวอย่างร้อนแรงของเศรษฐกิจ

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปียังคงดีดตัวขึ้นในวันนี้ หลังจากพุ่งแตะระดับ 1.6% ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น

ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 117,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 225,000 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ ADP ยังได้ปรับตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนในเดือนม.ค.เป็นเพิ่มขึ้น 195,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานเพิ่มขึ้น 174,000 ตำแหน่ง

การจ้างงานของภาคเอกชนในเดือนก.พ.ได้แรงหนุนจากภาคบริการ ขณะที่ภาคการผลิตและก่อสร้างปรับตัวลง

ทางด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดนเปิดเผยว่า ชาวอเมริกันที่เป็นผู้ใหญ่จะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทุกคนภายในสิ้นเดือนพ.ค. ซึ่งเร็วกว่ากำหนดถึง 2 เดือน โดยการฉีดวัคซีนในวงกว้างจะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวขึ้น

ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังคงจับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ โดยสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติให้ความเห็นชอบต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา ก่อนที่จะส่งให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนลงนามรับรองเป็นกฎหมาย

นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ คาดว่า กระบวนการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเสร็จสิ้นก่อนวันที่ 15 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่มาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะหมดอายุลง

ตลาดจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 16-17 มี.ค. หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวในแถลงการณ์รอบครึ่งปีต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์ที่แล้วว่า เฟดจะยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ขณะที่ส่งสัญญาณตรึงอัตราดอกเบี้ยใกล้ 0% ต่อไปอีกกว่า 3 ปี