BGRIM เจาะตลาดซื้อขายไฟฟ้ากลุ่มอาคาร-นำเข้า LNG ลดต้นทุนคาดชัดเจนปี 64

นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมรุกตลาดผลิตไฟฟ้าโดยเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองหรือจำหน่ายให้ลูกค้าตรง โดยไม่ขายเข้าระบบของการไฟฟ้า (Independent Power Supply: IPS) สำหรับลูกค้ากลุ่มอาคาร หรือศูนย์การค้า ซึ่งจะเป็นลูกค้ากลุ่มใหม่ นอกเหนือจากปัจจุบันที่มีตลาด IPS อยู่แล้วในกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่ซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) และกลุ่มลูกค้าโซลาร์รูฟท็อป ที่ใช้บริการติดตั้งและทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัท

สำหรับการรุกตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่ของ IPS ครั้งนี้ เนื่องจากมองว่ามีตลาดที่ดี หลังมีการเปิดโครงการมิกซ์ยูส ขนาดใหญ่หลายโครงการ ซึ่งโครงการเหล่านี้จะมีต้นทุนการใช้พลังงานที่ค่อนข้างสูงทำให้มีความต้องการที่จะลดการใช้พลังงาน ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าอยู่ 5-6 โครงการ ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลที่ให้ความสนใจ เบื้องต้นคาดว่าจะมีความชัดเจนในปี 64

ประกอบกับปัจจุบันบริษัทมีใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) สำหรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งเบื้องต้นเป็นการนำเข้ามาเพื่อใช้สำหรับโรงไฟฟ้าของบริษัทในส่วนที่เกินจากสัญญารับซื้อก๊าซธรรมชาติกับบมจ.ปตท. (PTT) แต่ต่อไปในอนาคตมองโอกาสที่จะนำเข้าเพื่อมาใช้ผลิตไฟฟ้าป้อนกลุ่ม IPS โครงการใหม่ ๆ รวมถึงการขายให้กับภาคอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งจะต้องทำเรื่องขอนำเข้าเพิ่มเติมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต่อไป โดยการนำเข้า LNG มาใช้ผลิตไฟฟ้าเองก็จะทำให้มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำลงด้วย และนับเป็นการต่อยอดของธุรกิจ LNG ด้วย

"ลูกค้ากลุ่มนี้มีความต้องการที่จะลดการใช้พลังงาน อยากได้ประสิทธิภาพที่สูง ๆ อันนี้เป็น IPS เหมือนกัน แต่ก่อนเรานำเข้าก๊าซฯไม่ได้ แต่ตอนนี้ LNG เป็นจิ๊กซอว์ที่จะมาตอบโจทย์ได้ ราคา LNG ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็จะทำให้โครงการพวกนี้สามารถที่จะคุ้มทุนได้"นายลิงค์ กล่าว

นายลิงค์ กล่าวว่า สำหรับลูกค้า IPS ในกลุ่มอาคาร หรือศูนย์การค้านั้น ก็จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างธุรกิจบี.กริม ซึ่งมีธุรกิจและมีความเชี่ยวชาญครอบคลุมในงานภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งด้านอุปกรณ์พลังงาน ,เครื่องปรับอากาศ ,ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เป็นต้น และ BGRIM บริษัทในกลุ่มที่ทำธุรกิจผลิตไฟฟ้า โดยรูปแบบการดำเนินงานนั้นขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าต้องการโซลูชันแบบใด อาจเป็นได้ทั้งในรูปแบบที่ BGRIM ลงทุนเอง หรือทางกลุ่มลูกค้าเป็นผู้ลงทุน หรือเป็นการร่วมลงทุน เป็นต้น

นายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส-การเงินและบัญชี ของ BGRIM กล่าวว่า ต้นทุนการดำเนินงานสำหรับตลาด IPS กลุ่มอาคาร ในปัจจุบันก็ลดต่ำลงจากการพัฒนาเทคโนโลยี ที่สามารถรองรับการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กราว 20-30 เมกะวัตต์ (MW) เพื่อใช้เฉพาะพื้นที่ ซึ่งอาจจะเป็นโรงงานเดียว หรือกลุ่มโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม หรือกลุ่มอาคารมิกซ์ยูส ทำให้มีต้นทุนการก่อสร้างต่ำ รวมถึงต้นทุนก๊าซฯที่ลดลง หากมีการนำเข้า LNG ได้เอง เพราะปัจจุบันโครงสร้างราคาก๊าซฯสำหรับลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ มีความแตกต่างกัน โดยผู้ผลิตไฟฟ้าประเภท SPP มีราคาก๊าซฯเฉลี่ยราว 230 บาท/ล้านบีทียู ขณะที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) จะมีต้นทุนก๊าซฯต่ำสุด โดยมีราคาถูกกว่ากลุ่ม SPP ราว 9 บาท/ล้านบีทยู และลูกค้าอุตสาหกรรมจะใช้ก๊าซฯแพงกว่ากลุ่ม SPP

"สิ่งสำคัญคือต้นทุนการก่อสร้าง ต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ต้นทุนค่าก่อสร้างเทคโนโลยีพัฒนามาแล้ว พวกนี้สามารถรองรับโรงไฟฟ้าสเกลเล็กได้ พวก 20-30 เมกะวัตต์ขึ้นไป อาจเป็นนิคมเล็ก ๆ หรือ 1 โรงงาน ซึ่งทำได้ทั้งโซลาร์รูฟท็อป หรือโรงไฟฟ้าก๊าซฯก็ได้ หรืออาจจะเป็นการผสมผสานระหว่างกันก็ได้ แล้วแต่ลูกค้าเลย ลูกค้าคิดอย่างไร ต้องการอะไร เราก็นำรูปแบบเข้าไปเสนอ อันนี้คือการก่อสร้าง และที่สำคัญคือค่าก๊าซฯที่ผ่านมาพัฒนาไม่ได้ เพราะต้นทุนค่าก๊าซอุตสาหกรรมแพงมาก แต่ตอนนี้มี LNG เข้ามาก็จะเป็นจิ๊กซอว์ที่จะมาตอบโจทย์ได้"นายนพเดช กล่าว

นายนพเดช กล่าวว่า การพัฒนาโครงการระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น พื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ที่บริษัทเป็นผู้ดำเนินการให้กับกองทัพเรือนั้น ก็นับเป็นหนึ่งในรูปแบบของ IPS ใหม่ด้วย ซึ่งจะเป็นการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน (Hybrid Power Plant) ระหว่างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Co-Generation Power Plant) โดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (PV Solar Farm) ขนาดกำลังการผลิตรวม 95 เมกะวัตต์ พร้อมด้วยระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ (Energy Storage :ESS) ขนาด 50 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) สำหรับโครงการดังกล่าวตามแผนจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) อย่างสมบูรณ์ในปี 67