ดอลลาร์อ่อนค่าวันนี้ นักลงทุนจับตาถ้อยแถลง "พาวเวล"

ดอลลาร์อ่อนค่าเทียบสกุลเงินหลักในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์นี้

ปอนด์ดีดตัวขึ้นในวันนี้ โดยแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์และยูโร ก่อนที่นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น

นอกจากนี้ ปอนด์ยังได้แรงหนุนจากรายงานก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า การประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศเป็นครั้งที่ 3 ของอังกฤษ ได้ช่วยให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดต่ำลง

ณ เวลา 23.16 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์ร่วงลง 0.31% สู่ระดับ 105.09 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.06% สู่ระดับ 127.61 เยน และดีดตัวขึ้น 0.23% สู่ระดับ 1.215 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.22% สู่ระดับ 90.17

ดอลลาร์อยู่ในช่วงขาลงนับตั้งแต่ต้นเดือนก.พ. ขณะที่ดีดตัวขึ้นในเดือนม.ค. หลังจากดิ่งลง 7% ในปีที่แล้ว

ด้านนายพาวเวลมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ นายพาวเวลจะกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันพรุ่งนี้ และต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธ

ที่ผ่านมา ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ประธานเฟดมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์ต่อสภาคองเกรสปีละ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกในเดือนก.พ. และอีกครั้ง ในเดือนมิ.ย.หรือก.ค.

นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายพาวเวล เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจ, อัตราเงินเฟ้อ, ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ รวมทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

การแถลงของนายพาวเวลในสัปดาห์นี้ถือเป็นครั้งแรกที่เขาจะกล่าวถ้อยแถลงต่อสภาคองเกรสชุดใหม่ที่พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากทั้งในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็เป็นรัฐบาลที่มาจากพรรคเดโมแครตเช่นกัน

นอกจากนี้ ถ้อยแถลงของนายพาวเวลครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากนักลงทุนกำลังกังวลว่า การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และตัวเลขเงินเฟ้อที่ส่งสัญญาณพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจผลักดันให้เฟดยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน หลังจากที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยใกล้ 0% ต่อไปอีกราว 2 ปี

ก่อนหน้านี้ เฟดเคยส่งสัญญาณชะลอการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในปี 2556 ซึ่งส่งผลให้เฟดลดการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจ ทำให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทและตลาดหุ้นทั่วโลกทรุดตัวลงอย่างหนักในปีดังกล่าว