บอนด์ยีลด์สหรัฐดีดตัวทะลุ 2.8% หลังจ้างงานพุ่งหนุนเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีดีดตัวขึ้นทะลุระดับ 2.8% ในวันนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานพุ่งขึ้นเกินคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ณ เวลา 21.02 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 2.838% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.079%

ราคาพันธบัตร และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน

นักลงทุนเพิ่มคาดการณ์เกี่ยวกับการที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนก.ย. หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานพุ่งขึ้นเกินคาดในวันนี้

ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 68.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 31.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50%

ก่อนหน้านี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 68.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 31.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%

หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนก.ย. ก็จะส่งผลให้เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 หลังจากปรับขึ้น 0.75% ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค.

นักวิเคราะห์ระบุว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่พุ่งขึ้นเกินคาด รวมทั้งการลดลงของอัตราการว่างงาน และการดีดตัวขึ้นของตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน จะทำให้เฟดเดินหน้าเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 528,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. โดยพุ่งขึ้นมากกว่า 2 เท่าจากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 258,000 ตำแหน่ง

ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.5% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.6%

กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนพ.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 386,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 384,000 ตำแหน่ง และปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนมิ.ย. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 398,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 372,000 ตำแหน่ง

กระทรวงแรงงานสหรัฐระบุว่าภาคเอกชนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 471,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาครัฐจ้างงานเพิ่มขึ้น 57,000 ตำแหน่ง

ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ดีดตัวขึ้น 0.5% เมื่อเทียบรายเดือน และพุ่งขึ้น 5.2% เมื่อเทียบรายปี

ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ

ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐ ซึ่งแสดงสัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมด อยู่ที่ระดับ 62.1%