คลัง เผย APEC SFOM หารือมุ่งใช้ดิจิทัลกระตุ้นศก.-จัดเก็บรายได้-เชื่อมโยงระบบชำระเงินข้ามแดน

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการคลังเอเปค (APEC Senior Finance Officials’ Meeting: APEC SFOM) ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digitalization for Digital Economy) ในช่วงเย็นของวันที่ 22 มิถุนายน 65 และประเด็นการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเซบูสู่การปฏิบัติฉบับใหม่ ในวันที่ 23 มิถุนายน 65 ซึ่งการหารือในสองประเด็นหลังมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. ผลการหารือในประเด็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในการดำเนินนโยบายการคลังโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งในส่วนของการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ที่ควรเป็นเครื่องมือที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้ (User-Friendly) และเอื้อต่อการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการออกแบบนโยบายต่อไปได้

นอกจากนี้ การพัฒนาการเชื่อมโยงการชำระเงินข้ามพรมแดนควรคำนึงถึงประเด็นต่าง ๆ เช่น การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ กฎหมายและกฎระเบียบภายใน การกำหนดและการชำระราคาที่เหมาะสม การระงับข้อพิพาท เป็นต้น และการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

โดยที่ประชุมเห็นควรให้พิจารณาถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งทุนของ SMEs พร้อมกับการปกป้องนักลงทุนในตลาดดังกล่าวด้วย ในการนี้ ผู้แทนกระทรวงการคลังไทย และ OECD ได้นำเสนอความคืบหน้าการจัดทำเอกสารเชิงนโยบายที่ได้จัดทำร่วมกัน เรื่อง Digitalization of Fiscal Measures and Policy Innovations during the COVID-19 Pandemic ซึ่งได้กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในแต่ละเขตเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ดำเนินการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และในส่วนของไทย ผู้แทนกระทรวงการคลังได้นำเสนอมาตรการช่วยเหลือประชาชนช่วงโควิด-19 เช่น โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน การลงทะเบียนรอบใหม่ของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และซื้อพันธบัตรรัฐบาลผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง เป็นต้น

นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะผู้แทนประเทศไทย ได้นำเสนอการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในด้านภาษีของไทย โดยภาครัฐได้พัฒนานวัตกรรมด้านการจัดเก็บภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยื่นภาษีให้มีความสะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงได้ง่าย โดยที่ผู้ยื่นภาษีสามารถจัดทำได้จากระบบอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ไทยเป็นเขตเศรษฐกิจแรกของโลกที่มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวผ่านแอปพลิเคชัน (VAT Refund for Tourists App) โดยการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาปรับใช้

ในโอกาสนี้ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดทำเอกสารทางเลือกเชิงนโยบายในการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินข้ามพรมแดน (APEC Policy Options for Developing Cross-border Payments and Remittances) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับเขตเศรษฐกิจในเอเปคที่ต้องการเชื่อมโยงการโอนเงินและการชำระเงินระหว่างกันโดยสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ด้วยต้นทุนที่ถูกลง

ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับปรุงร่างเอกสารตามข้อแนะนำของเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ และอยู่ระหว่างเวียนขอความเห็นจากสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปครับรองในเดือนตุลาคม 65 ต่อไป

2. การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเซบูสู่การปฏิบัติฉบับใหม่ ที่ประชุมได้หารือและรับทราบความคืบหน้าของการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเซบูสู่การปฏิบัติฉบับใหม่ (New Strategy for Implementation of the Cebu Action Plan: New CAP) ที่ได้รับรองในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 28

ในการนี้ ผู้แทนสมาชิกเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผน New CAP ของเขตเศรษฐกิจตน เช่น ผู้แทนสหรัฐอเมริกา ได้รายงานความคืบหน้าของโครงการพัฒนาการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ซึ่งเขตเศรษฐกิจจะดำเนินการร่วมกันต่อไป และผู้แทนญี่ปุ่น ได้รายงานความคืบหน้าด้านการบริหารความเสี่ยงและการประกันภัยเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เป็นต้น ซึ่งสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคสามารถนำไปเป็นแนวทางเพื่อปรับใช้ให้เหมาะสมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละเขตเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ การประชุม APEC SFOM ในวันที่ 22 - 23 มิถุนายน 65 ณ จังหวัดขอนแก่น สะท้อนความมุ่งมั่นของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคในการพัฒนาด้านเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล และถือเป็นโอกาสอันดีในการพบปะหารือและแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมของแต่ละสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งกระทรวงการคลังได้นำเสนอการดำเนินงานที่มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) รวมถึงศักยภาพของไทยในการพัฒนาด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการมุ่งไปสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล

สำหรับข้อสรุปและผลลัพธ์ของการประชุม APEC SFOM จะนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM) ครั้งที่ 29 ในช่วงเดือนตุลาคม 65 ที่จะจัดขึ้นในกรุงเทพมหานครต่อไป