น้ำมัน WTI ปิดบวก 93 เซนต์ วิตกรัสเซียลดการผลิตหนุนราคา

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (24 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่ารัสเซียจะปรับลดการผลิตและการส่งออกน้ำมันในเดือนหน้า

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 93 เซนต์ หรือ 1.23% ปิดที่ 76.32 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ลดลง 0.3% ในรอบสัปดาห์นี้

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 95 เซนต์ หรือ 1.16% ปิดที่ 83.16 ดอลลาร์/บาร์เรล และเพิ่มขึ้น 0.2% ในรอบสัปดาห์นี้

ตลาดน้ำมันได้แรงหนุนจากการที่รัสเซียประกาศก่อนหน้านี้ว่า จะปรับลดการผลิตน้ำมัน 500,00 บาร์เรลต่อวันในเดือนมี.ค.

แต่การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ได้สกัดกั้นการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมัน โดยดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.6% แตะที่ 105.2157 โดยการแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ

ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเทียบสกุลเงินหลัก หลังการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่พุ่งขึ้นเกินคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวขึ้น 5.4% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี และสูงกว่าระดับ 5.3% ในเดือนธ.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป เพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนม.ค. และสูงกว่าระดับ 0.2% ในเดือนธ.ค.

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.4% และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.6% ในเดือนม.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5%

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.พ. 66)

Tags: , ,
Back to Top