ส.อ.ท.เผยส่งออกรถยนต์เม.ย.สดใส มั่นใจทั้งปีทะลุเป้า-วอนรัฐขยายมาตรการภาษีหนุน EV

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือน เม.ย.66 อยู่ที่ 79,940 คัน เพิ่มขึ้น 43.53% จากเดือน เม.ย.65 แต่ลดลง 18.74% จากเดือน มี.ค.66

ในเดือน เม.ย.66 ยอดผลิตรถยนต์นั่งและรถกระบะเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น 21.06% และ 6.06% ตามลำดับจากฐานต่ำของปีที่แล้ว เนื่องจากขาดแคลนชิปจากการเกิดสงครามยูเครน และการล็อคดาวน์เซี่ยงไฮ้ที่มีปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย ออสเตรเลีย ตะวันออกออกกลาง แอฟริกา และยุโรป

ขณะที่มีมูลค่าการส่งออก 50,164.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.83% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

"ยอดส่งออกขยายตัวมากจากฐานต่ำปีก่อน เนื่องจากปัญหาขาดแคลนชิป หลังเกิดสงครามยูเครนและการล็อคดาวน์เซี่ยงไฮ้ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19" นายสุรพงษ์ กล่าว

ส่วนการส่งออกรถกระบะเดือน เม.ย.66 ลดลงเนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนพื้นที่ส่งออก หลังทางการออสเตรเลียกลับมาเข้มงวดกรณีที่มีเกสรดอกไม้ติดปนเปื้อนไปกับรถกระบะ ทำให้ต้องเสียเวลากลับมาขนส่งรถไปใหม่

ภาพรวมการส่งออกในปีนี้มั่นใจว่าจะเกินเป้าที่ตั้งไว้ 1.05 ล้านคัน แต่ไม่มั่นใจว่าการผลิตจะได้ตามเป้า 1.95 ล้านคันหรือไม่


*ยอดผลิต

จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือน เม.ย.66 มีทั้งสิ้น 117,636 คัน ลดลง 0.13% จากเดือน เม.ย.65 ซึ่งมาจากการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศที่ลดลง 11.31% ขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น 10.04% แต่ลดลง 34.59% จากเดือน มี.ค.66 เนื่องจากวันทำงานน้อยกว่า และมีการเร่งการผลิตไปในเดือน มี.ค.66


*ยอดขายในประเทศ

ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 59,530 คัน ลดลง 6.14% จากเดือน เม.ย.66 และลดลง 25.53% จากเดือน มี.ค.66 จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน เนื่องจากหนี้ครัวเรือนอยู่ในอัตราสูงและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นหลังจัดตั้งรัฐบาลแล้ว

โดยยอดขายรถกระบะขนส่งในประเทศลดลง เนื่องจากสัดส่วนหนี้ NPL ที่เกิดจากสินเชื่อรถยนต์มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 1.88% เป็น 1.89% ส่งผลให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีผู้นำเข้ารถเข้ามาแข่งขันทำตลาด


*ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า

ในเดือน เม.ย.66 มีจำนวน 3,820 คัน เพิ่มขึ้น 882% จากเดือน เม.ย.65 และมีสัดส่วนถึง 7.73% ของยอดจดทะเบียนทั้งหมด ส่วนช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มียอดจดทะเบียนรวม 18,356 คัน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1,029.6%

โดยเป็นรถยนต์ไฟฟ้าผสมแบบเสียบปลั๊กมีจำนวน 782 คัน ลดลง 6.57% จากเดือน เม.ย.65 และมีสัดส่วน 1.58% ของยอดจดทะเบียนทั้งหมด และ รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมมีจำนวน 6,160 คัน เพิ่มขึ้น 31.57% จากเดือน เม.ย.65 และมีสัดส่วน 12.47% ของยอดจดทะเบียนรวม ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยมีสัดส่วนสูงเทียบเคียงกับประเทศอื่นๆ


นายสุรพงษ์ กล่าวถึงกรณีที่จะมีการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 450 บาทนั้น ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานต์ยนต์โดยตรง เพราะจ่ายค่าแรงสูงกว่าอยู่แล้ว แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งคงต้องรอดูว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจำเป็นจะต้องมีการปรับราคารถยนต์ขึ้นหรือไม่

สิ่งที่นักลงทุนต่างประเทศมีความเป็นห่วงคือความชัดเจนเรื่องมาตรการภาษีช่วยเหลือผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าที่จะครบกำหนดภายในสิ้นปี 66 เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายไม่สามารถสร้างโรงงานได้ทันภายในปีนี้ และอยากให้ภาครัฐขยายมาตรการออกไป