ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งค่า หลังบอนด์ยีลด์พุ่ง-คาดเฟดคงดอกเบี้ยสูง

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (27 ก.ย.) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 15 ปี นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากแนวโน้มที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.41% แตะที่ระดับ 106.6639

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 149.5950 เยน จากระดับ 149.0710 เยนในวันอังคาร (26 ก.ย.) ขณะเดียวกันก็แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9208 ฟรังก์ จากระดับ 0.9152 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 11.0471 โครนา จากระดับ 11.0285 โครนา แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3510 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3521 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0508 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0566 ดอลลาร์ในวันอังคาร ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2137 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2157 ดอลลาร์

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 4.622% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 15 ปี หลังจากเฟดส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดการณ์ว่าการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันอาจทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น และทำให้เฟดคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานขึ้นด้วย

นักลงทุนจับตาความคืบหน้าของสภาคองเกรสในการผ่านร่างงบประมาณชั่วคราว ซึ่งหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงภายในวันที่ 30 ก.ย. ก็จะทำให้มีการปิดหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐ หรือชัตดาวน์ในวันที่ 1 ต.ค.

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/2566 ในวันนี้ และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนส.ค.ในวันศุกร์นี้ รวมทั้งการแสดงความเห็นของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ในการประชุมทาวน์ฮอลล์ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนส.ค. หลังจากดิ่งลง 5.6% ในเดือนก.ค.