ครม.ไฟเขียวมาตรการ EV 3.5 ให้เงินอุดหนุนสูงสุด 1 แสนบาท เริ่มใช้ 2 ม.ค. 67

          นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 
(ครม.) มีมติอนุมัติมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV 3.5) ในช่วงเวลา 4 ปี (67-70) โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 
2 ม.ค.67 เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และผลักดันไทยก้าวสู่การเป็นฐานผลิตชั้นนำของอุตสาหกรรม
ยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค
          สำหรับมาตรการ EV 3.5 จะครอบคลุมทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยสิทธิประโยชน์
ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ เงินอุดหนุน การลดอัตราอากรขาเข้ารถยนต์สำเร็จรูป และการลดอัตราภาษีสรรพสามิต โดยเงินอุดหนุนจะเป็น
ไปตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่ ดังนี้
          - กรณีรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh ในปีที่ 1 จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 
บาท/คัน  ปีที่ 2 จะได้รับเงินอุดหนุน 75,000 บาท/คัน และในปีที่ 3/4 จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คัน 
          สำหรับรถที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 50 kWh ในปีที่ 1 จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คัน ในปีที่ 2 จะได้รับเงินอุด
หนุน 35,000 บาท/คัน และในปีที่ 3-4 จะได้รับเงินอุดหนุน 25,000 บาท/คัน          
          - กรณีรถกระบะไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน 
ตลอดระยะเวลา 4 ปี เฉพาะส่วนที่ผลิตในประเทศ
          - กรณีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน 10,000 
บาท/คัน ตลอดระยะเวลา 4 ปี เฉพาะส่วนที่ผลิตในประเทศ
          นอกจากนี้ ภายใต้มาตรการ EV 3.5 จะมีการลดอากรขาเข้าไม่เกิน 40% สำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป 
(CBU) ที่มีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ในช่วง 2 ปีแรก (67 - 68) และลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
ราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท โดยได้กำหนดเงื่อนไขการลงทุนในประเทศ ให้ผู้ได้รับการสนับสนุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อชดเชยการนำเข้าภาย
ในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 : 2 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) และจะเพิ่มอัตราส่วนเป็น 1 : 3 ในปี 70 โดยเปิดโอกาสให้ผู้
ประกอบการรายเดิมที่เข้าร่วมมาตรการ EV3 แล้ว หากมีความประสงค์จะเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ให้สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์
ได้ โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของแต่ละมาตรการ
          ภายใต้มาตรการ EV3.5 กรมสรรพสามิตคาดว่าจะมียานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการสนับสนุนตลอดระยะเวลา 4 ปี จำนวน
ประมาณ 830,000 คัน โดยแบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 454,000 คัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 346,000 คัน และรถกระบะไฟฟ้า 30,000 
คัน  โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณจำนวน 34,000 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 4 ปี
          นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้กรมสรรพสามิตขยายเวลาการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV 3 จาก
เดิมที่ต้องจดทะเบียนภายในวันที่ 31 ธ.ค.66 ให้ขยายเวลาเป็นต้องจำหน่ายภายในวันที่ 31 ธ.ค.66 และต้องจดทะเบียนภายในวันที่ 
31 ม.ค.67 เพื่อให้ผู้บริโภคที่ตัดสินใจซื้อยานยนต์ไฟฟ้าในช่วงปลายปี 66 สามารถยื่นจดทะเบียนได้ทันภายในเดือนม.ค.67 
          นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำหรับมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ ไฟฟ้าระยะแรก หรือ EV 
3 ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีผู้นำเข้าและผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมมาตรการ EV3 ที่ได้ทำข้อตกลง (MOU) ร่วมกับกรมสรรพสามิต 
จำนวน 19 ราย มีรถยนต์ที่ได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการ EV3 จำนวน 28,841 คัน และรถไฟฟ้าที่มีการนำเข้าแต่ยังไม่ได้ยื่นขอรับเงิน
อุดหนุน จำนวน 61,436 คัน โดยผลของมาตรการ EV3 ก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มูลค่ารวม 61,425 ล้านบาท 
จากโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ การผลิตชิ้นส่วนสำคัญ รวมถึงสถานีอัดประจุ
ไฟฟ้า            

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
         
                              ตารางสรุปสิทธิประโยชน์ของมาตรการ EV 3.5
  ประเภทรถ          ขนาดแบตเตอรี่      เงินอุดหนุน (บาท/คัน)      ลดอากรขาเข้า CBU      ลดภาษีสรรพสามิต
- รถยนต์นั่ง           ตั้งแต่ 50 kWh       100,000 ในปีที่ 1          ไม่เกิน 40%          จาก 8% เหลือ 2%
(ไม่เกิน 2 ล้านบาท)                       75,000 ในปีที่ 2          นำเข้าช่วงปี
                                       50,000 ในปีที่ 3-4        2567-2568 

                 10 - <50 kWh         50,000 ในปีที่ 1           ไม่เกิน 40%          จาก 8% เหลือ 2%
                                      35,000 ในปีที่ 2           นำเข้าช่วงปี
                                      25,000 ในปีที่ 3-4         2567-2568 

- รถยนต์นั่ง        ตั้งแต่ 50 kWh               -                   อัตราปกติ           จาก 8% เหลือ 2%
(เกิน 2 ล้านบาท 
แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท)

- รถกระบะ        ตั้งแต่ 50 kWh             100,000               อัตราปกติ             อัตราปกติ
(ไม่เกิน 2 ล้านบาท)                 (เฉพาะส่วนที่ผลิตในประเทศ)

- รถจักรยานยนต์    ตั้งแต่ 3 kWh              10,000                อัตราปกติ             อัตราปกติ
(ไม่เกิน 150,000 บาท)              (เฉพาะส่วนที่ผลิตในประเทศ)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++