อุบัติเหตุสงกรานต์! 2 วัน ตาย 63 บาดเจ็บ 550 ขับเร็วเป็นเหตุ

ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ (ศปถ.) สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 12 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่สองของการรณรงค์ "ขับขี่อย่างปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ" เกิดอุบัติเหตุ 307 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 299 คน ผู้เสียชีวิต 38 ราย

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 2 วันของการรณรงค์ (11 - 12 เม.ย. 67) เกิดอุบัติเหตุรวม 541 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ รวม 550 คน ผู้เสียชีวิต รวม 63 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 42 จังหวัด


*สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่

- ขับรถเร็ว 41.37%

- ดื่มแล้วขับ 21.17%

- ตัดหน้ากระชั้นชิด 20.20%


*ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่

- รถจักรยานยนต์ 84.91%


*ประเภทถนนที่เกิดอุบัติเหตุ

- ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง 86.32%

- ถนนกรมทางหลวง 40.07%

- ถนนใน อบต./หมู่บ้าน 25.73%


*ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่

- เวลา 16.01 - 17.00 น. และเวลา 19.01 - 20.00 น. ร้อยละ 7.49


*ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วง

- อายุ 20 -29 ปี ร้อยละ 18.69


*จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่

- พะเยา (15 ครั้ง)


*จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่

- ประจวบคีรีขันธ์และพะเยา (14 คน)


*จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่

- นครราชสีมา ร้อยเอ็ด และเชียงราย (3 ราย)


*สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 2 วันของการรณรงค์ (11 - 12 เม.ย. 67)

- เกิดอุบัติเหตุรวม 541 ครั้ง

- ผู้บาดเจ็บ รวม 550 คน

- ผู้เสียชีวิต รวม 63 ราย


*จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์)

- มี 42 จังหวัด


*จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่

- เชียงรายและประจวบคีรีขันธ์ (21 ครั้ง)


*จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่

- นครศรีธรรมราชและสงขลา (22 คน)


*จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่

- ร้อยเอ็ด (5 ราย)


พล.ต.ท.ภาคภูมิพิพัฒน์ สัจจพันธุ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) กล่าวว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตในช่วง 2 วันแรกของเทศกาลสงกรานต์ พบว่าลดลงอย่างมีนัยยะเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งเรื่องอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และการเสียชีวิต

สำหรับแนวโน้มอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตในช่วงหลังจากนี้ ขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบและต่อวินัยการจราจรของผู้เดินทางเอง โดยเน้นย้ำการบังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลัก และความจริงจังเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ในการปฎิบัติหน้าที่ ขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือกรณีที่เจ้าหน้าที่มีการตั้งด่านตรวจแอลกอฮอล์หรือตรวจความเร็วของรถ เพราะหากสามารถบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายได้จริงจัง จะช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตได้

ส่วนไฟส่องสว่างตามถนน จุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอนั้น ยอมรับว่ามีปัญหา แต่บางกรณีอยู่นอกเหนือขอบเขตอำนาจความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ เบื้องต้นทางตำรวจได้มีมาตรการดูแลสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่เสียบนถนน โยกย้ายให้พ้นการกีดขวางจราจร รวมถึงประสานไปยังบริษัทต่างๆ ให้ดูแลเรื่องจุดชาร์จไฟ แต่ต้องขอความร่วมมือให้ประชาชนตรวจสอบทั้งสภาพรถ การจราจร และจุดชาร์จด้วยตัวเอง

ส่วนการจับการบรรทุกน้ำขึ้นหลังรถกระบะเพื่อเล่นสงกรานต์นั้น สามารถทำได้ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ ฉบับใหม่ โดยสามารถนั่งท้ายกระบะได้ไม่เกิน 6 คน และขับเลนซ้าย ใช้ความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเพื่อความปลอดภัย ส่วนการแต่งกายร่วมเล่นน้ำนั้น ขอให้พิจารณาตามความเหมาะสมแต่หากมีการแต่งกายที่ล่อแหลม หรือก่อความเดือดร้อนรำคาญให้กับบุคคลคนรอบข้าง เจ้าหน้าที่ก็จะพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมเช่นกัน