คลังหั่นคาดการณ์ GDP ปี 67 เหลือโต 2.4% หวังดิจิทัลวอลเล็ตดัน ศก.โตทะลุ 3%

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 อยู่ที่ 2.4% (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.9-2.9%) ลดลงจากประมาณการเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 2.8% เนื่องจากปัจจัยสำคัญ คือ การส่งออกสินค้าหดตัวมากกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม นอกจากนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังหดตัว ซึ่งดูจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) โดยเฉพาะในหมวดยานยนต์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาคการเกษตร ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ที่มาจากสถานการณ์เอลนีโญ รวมถึงภาคการคลัง ที่ยังใช้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 66 ไปพลางก่อน จนถึงเกือบปลายเดือนเม.ย.67

ทั้งนี้ การปรับประมาณการ GDP ในปี 67 ดังกล่าว มาจากสมมติฐานที่สำคัญ ดังนี้

1. เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ 15 ประเทศ คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 3.1%

2. อัตราแลกเปลี่ยน เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 36 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากปีก่อน 3.4%

3. ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยที่ 86 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน

4. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 35.7 ล้านคน คิดเป็นรายได้ราว 1.59 ล้านล้านบาท ค่าใช้จ่ายต่อหัว 44,600 บาท

5. รายจ่ายภาคสาธารณะ แบ่งเป็น งบประมาณรายจ่ายปี 67 ที่ 3.48 ล้านล้านบาท คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 3.21 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่าย 92.3% ส่วนงบประมาณรายจ่ายปี 68 ที่ 3.75 ล้านล้านบาท คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 3.54 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่าย 94.4%

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในช่วงต่อจากนี้ เม็ดเงินจากงบประมาณปี 2567 จะเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเร่งขึ้นได้ในช่วงที่เหลือของปี 2567

นายพรชัย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 67 จะได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นสำคัญ รวมถึงบทบาทสนับสนุนของนโยบายการคลังในช่วงที่เหลือของปี โดยคาดว่าปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในไทย 35.7 ล้านคน ขยายตัว 26.7% ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง เกิดการจ้างงานและเพิ่มรายได้ประชาชน ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ทำให้คาดว่าการลงทุนภาคเอกชน จะขยายตัว 3.7%

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน จะขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.5% สำหรับการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ 2.3% โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง และมูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวที่ 3.4% โดยมีสินค้าทุนขยายตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงการลงทุนภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศอยู่ในระดับมั่นคง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.6% ตามการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าอาหารบางกลุ่ม อีกทั้งราคาสินค้าในหมวดพลังงาน ที่ลดลงจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะกลับมาเกินดุล 9.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.8% ของ GDP


*หวังดิจิทัลวอลเล็ตดัน ศก.โตทะลุ 3%

อย่างไรก็ดี สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ที่คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ราวไตรมาส 4/67 นั้น หากสามารถดำเนินการได้ตามกรอบที่วางไว้ ก็คาดว่าจะมีผลต่อ GDP ปีนี้ให้เพิ่มขึ้นอีกราว 1.2-1.8% หรือเพิ่มขึ้นจากประมาณการ GDP เป็น 3-3.3% แต่ถ้าไม่มีโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ปีนี้เศรษฐกิจไทยก็จะอยู่ที่ 2.4%

"หากเม็ดเงินจากดิจิทัลวอลเล็ต เริ่มใช้ได้ในไตรมาส 4/67 ตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ ก็จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน และสนับสนุนให้ GDP ปี 67 โตได้มากกว่า 3% และมีโอกาสจะไปได้ถึง 3.3%...วงเงินเป้าหมายของโครงการดิจิทัล วอลเล็ต คือ 5 แสนล้านบาท และการใช้จ่ายมีระยะเวลา ไม่ได้จบแค่เดือน ธ.ค. 67 นั่นหมายความว่าประชาชนบางส่วน จะมีการใช้เม็ดเงินต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหน้า ซึ่งรัฐบาลได้ประมาณว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนี้ จะมีผลต่อเศรษฐกิจประมาณ 1.2-1.8% แต่ถ้าจับช่วงเวลาที่มีผลต่อเศรษฐกิจ คือ ในไตรมาส 4/67 ที่คาดว่าจะมีการใช้จ่าย 3.5 แสนล้านบาท ในส่วนนี้ ก็จะมีผลกับเศรษฐกิจในปีนี้ให้ขยายตัวได้ 3.3% ส่วนเม็ดเงินจะมีการหมุนไปอีกหลายรอบในระยะถัดไป" นายพรชัย กล่าว

สำหรับในระยะยาว การพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน กระทรวงการคลังมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับ 1) ความยั่งยืนทางการคลัง (Fiscal Sustainability) มุ่งมั่นในการบริหารจัดการการคลังอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงการใช้จ่ายของรัฐและระดับหนี้สาธารณะอย่างรับผิดชอบ และ 2) การยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย (Potential GDP) มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศในระดับภูมิภาค และระดับหมู่บ้าน โดยต่อยอดจากวิสัยทัศน์ 8 ด้าน ภายใต้กรอบนโยบาย Ignite Thailand ของรัฐบาล

ทั้งนี้ ยังควรติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด อาทิ

1. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ

2. ความผันผวนของตลาดการเงินโลก จากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลัก และปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

3. การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะประเทศจีน จากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์