ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 33.07 แข็งค่าเร็ว สัปดาห์หน้ามีโอกาสหลุด 33 บาท ลุ้นยอดจ้างงานสหรัฐฯ

          นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้ อยู่ที่ระดับ 33.07 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจาก
ช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 33.57 บาท/ดอลลาร์
          ระหว่างวัน เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.07-33.58 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแข็งค่าทิศทางเดียวกับสกุลเงินอื่นใน
ภูมิภาคเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ซึ่งตลาดเริ่มมีความหวังกับการเจรจาภาษีระหว่างสหรัฐ-จีน ขณะที่ภาพรวมวันนี้ตลาดค่อนข้างเบาบาง เนื่อง
จากบางส่วนเริ่มหยุดยาวต่อเนื่อง
          "วันนี้ตลาดเบาบาง เพราะนักลงทุนบางส่วนเริ่มหยุดยาวต่อเนื่อง ดังนั้นเมื่อตลาดมีวอลุ่มน้อย ประกอบกับ flow ทองคำขึ้น
มา จึงทำให้บาทแข็งค่าไปเร็ว" นักบริหารเงิน ระบุ
          สำหรับคืนนี้ ต้องจับตาการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือนเม.ย.ของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นตัวเลขเศรษฐกิจ
สำคัญของสหรัฐฯ เพราะหากออกมาแย่เช่นเดียวกับตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวที่ได้รายงานไปก่อนหน้านี้ จะทำให้ตลาดเพิ่มโอกาสมากขึ้นว่า
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเศรษฐกิจอ่อนแอ ซึ่งจะส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าตามมา
          นักบริหารเงิน คาดว่า ต้นสัปดาห์หน้า เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.95 - 33.25 บาท/ดอลลาร์

          * ปัจจัยสำคัญ
          
          - เงินเยน อยู่ที่ระดับ 144.51 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 145.65 เยน/ดอลลาร์
          - เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.1350 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1281 ดอลลาร์/ยูโร
          - ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ 1,198.98 จุด เพิ่มขึ้น 1.72 จุด (+0.14%) มูลค่าซื้อขาย 45,654.06 ล้านบาท
          - สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 1,320.41 ล้านบาท
          - ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนเม.ย.68 อยู่ที่ 47.1 ลดลงจาก 50.2 
ในเดือนมี.ค.68 ตามการลดลงในเกือบทุกองค์ประกอบ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความเชื่อมั่นภาคการผลิตปรับลดลงมาก เหตุมีวันทำการน้อย 
และความไม่ชัดเจนมาตรการภาษีของสหรัฐ ส่วนความเชื่อมั่นที่มิใช่ภาคการผลิต ลดลงจากกลุ่มอสังหาฯ เป็นสำคัญ เพราะเหตุแผ่นดินไหว 
ทำให้ผู้ซื้อชะลอโอนคอนโดฯ  
          - SCB EIC ประเมินว่า การส่งออกแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนจากไทยไปสหรัฐฯ มีแนวโน้มหดตัวใกล้ 0% ในช่วงปี 
2529 หลังสหรัฐฯ ประกาศอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และการอุดหนุน (CVD) ขั้นสุดท้าย ต่อสินค้าดังกล่าวจากไทยเมื่อวันที่ 
21 เม.ย.68 ซึ่งมีอัตรารวมสูงถึง 375.19-972.23%   
          - แหล่งข่าวในรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเสนอปรับลดงบประมาณรายจ่ายในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับ
ด้านกลาโหมลง 1.63 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในร่างงบประมาณปี 2569 โดยเน้นตัดงบด้านสิ่งแวดล้อม, พลังงานหมุนเวียน, การศึกษา 
และความช่วยเหลือต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ก็จะเพิ่มงบด้านความมั่นคงชายแดน และด้านกลาโหม
          - กรรมาธิการการค้ายุโรป กล่าวว่า สหภาพยุโรป (EU) พร้อมที่จะเสนอซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าถึง 5 หมื่น
ล้านยูโร (5.646 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อแก้ไขปัญหาที่ขัดขวางความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองฝ่ายอยู่ในขณะนี้ พร้อมกล่าวเพิ่ม
เติมว่า การเจรจาของ EU เพื่อบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ มีความคืบหน้าระดับหนึ่ง
          - ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ขยับขึ้นแตะ 49.0 ในเดือนเม.ย. จาก 48.6 ใน
เดือนมี.ค. นับเป็นระดับสูงสุดในรอบ 32 เดือน และเพิ่มขึ้น 4 ครั้งติดต่อกัน ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตกำลังกลับสู่ภาวะมี
เสถียรภาพ 
          - เทรดเดอร์สินค้าโภคภัณฑ์ ผู้มีประสบการณ์ยาวนาน 50 ปีคาดการณ์ว่า "บิตคอยน์" อาจมีโอกาสพุ่งแตะระดับ 125,000 
ดอลลาร์ หรืออาจสูงถึง 150,000 ดอลลาร์ภายในเดือนส.ค.-ก.ย.ปีนี้ พร้อมเตือน หากราคาทะยานถึงเป้าหมายดังกล่าวได้จริง ราคาก็
อาจเกิดการปรับฐานครั้งใหญ่ถึง 50% ตามมา ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2560 และ 2564 หลังจากบิตคอยน์พุ่งแตะจุดสูงสุด
ในรอบปี แล้วร่วงรุนแรง
          - ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ระบุว่า BOJ ยังคงใช้แนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม แม้ว่าความไม่แน่นอน
ทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ทำให้ BOJ ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ ลงเหลือ 
0.5% และปรับลดเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ลงเหลือโต 2.2%
          - สำนักสถิติอินโดนีเซีย เผย ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนเม.ย. อยู่ที่ 1.95% เพิ่มขึ้นสู่ระดับ
สูงสุดในรอบ 8 เดือน และสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรการลดหย่อนค่าไฟฟ้าบางส่วนเป็นเวลา 2 เดือน ได้สิ้นสุดลง
แล้ว 
          - คืนนี้ สหรัฐฯ จะมีการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนเม.ย. และยอดสั่ง
ซื้อภาคโรงงานเดือน มี.ค.