ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 368,292 ลบ.

          สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (28 เมษายน - 2 พฤษภาคม2568) 
ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 368,292 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 92,073 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 18%
ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้ว จะพบว่ากว่า 48% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 177,378 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออก
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (state Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออก
โดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 144,059 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขาย
เท่ากับ 11,948 ล้านบาท หรือคิดเป็น 39% และ 3% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

          สำหรับพันธบัตรรัฐบาล ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB29NA (อายุ 4.6 ปี) LB256A (อายุ .1 ปี) และ LB284A (อายุ 3.0 ปี)
โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 11,025 ล้านบาท 10,011 ล้านบาท และ 9,781 ล้านบาท ตามลำดับ

          ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) รุ่น LH284A (A) 
มูลค่าการซื้อขาย 2,712 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) รุ่น PTTGC269A (AA-(tha)) มูลค่าการซื้อขาย 893 ล้านบาท 
และหุ้นกู้ของบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) รุ่น LH274B (A) มูลค่าการซื้อขาย 736 ล้านบาท

          อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวผันผวนประมาณ 3-4 bps. ด้านปัจจัยในประเทศ กระทรวงการคลังแถลงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 
ว่าจะขยายตัวที่ 2.1% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.0% เนื่องจากแรงกดดันด้านการค้าโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และการชะลอตัว
ของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า  ด้านผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 30 เม.ย. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% 
จากระดับ 2.00% เป็น 1.75% ต่อปี เนื่องจากเห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจและความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ขณะที่บริษัท มูดี้ส์ เรทติ้งส์ ปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยสู่ระดับ
"เชิงลบ" จากเดิมที่ระดับ "มีเสถียรภาพ" เนื่องจากความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและทางการคลังของไทยจะอ่อนแอลง ส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ 
สำหรับผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เมื่อวันที่ 1 พ.ค. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด 

          สัปดาห์ที่ผ่านมา (28 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2568) กระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลออกตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิ 6,574 ล้านบาท โดยเป็นการขายสุทธิ
ในตราสารหนี้ระยะสั้น (ST) (อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี) 7,160 ล้านบาท และซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว (LT) (อายุมากกว่า 1 ปี) 587 ล้านบาท และมีตราสารหนี้
ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 1 ล้านบาท

          หมายเหตุ: อันดับเครดิต หมายถึง อันดับเครดิตของหุ้นกู้เฉพาะรุ่น หรือ อันดับเครดิตของผู้ออกหุ้นกู้
          ดัชนีหุ้นกู้เอกชน (Corp Bond Gross Price Index) เปลี่ยนเป็น ดัชนีหุ้นกู้เอกชน(MTM Corp Bond Gross Price Index) ตั้งแต่ ม.ค. 2565

ความเคลื่อนไหวในตลาดตราสารหนี้ไทย                                   สัปดาห์นี้          สัปดาห์ก่อนหน้า      เปลี่ยนแปลง            สะสมตั้งแต่ต้นปี
                                                 (28 เม.ย. - 2 พ.ค. 68)  (21 - 25 เม.ย. 68)            (%)   (1 ม.ค. - 2 พ.ค. 68)
มูลค่าการซื้อขาย แบบปกติ - Outright Trading (ล้านบาท)              368,292.12          447,712.21        -17.74%           7,093,973.82
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน (ล้านบาท)                                 92,073.03           89,542.44          2.83%              86,511.88
ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Gross Price index)                      110.91              110.99         -0.07%                
ดัชนีหุ้นกู้เอกชน (MTM Corp Bond Gross Price Index)                    108.43              108.53         -0.09% 
               
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Yield Curve) --%
ช่วงอายุของตราสารหนี้                     1 เดือน     6 เดือน     1 ปี     3 ปี     5 ปี     10 ปี     15 ปี     30 ปี
สัปดาห์นี้ (2 พ.ค. 68)                      1.62       1.61     1.6    1.59    1.63      1.9     2.12     2.63
สัปดาห์ก่อนหน้า (25 เม.ย. 68)               1.66       1.65    1.64    1.56    1.59     1.91     2.11      2.6
เปลี่ยนแปลง (basis point)                   -4         -4      -4       3       4       -1        1        3