ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 33.01/02 ทรงตัว จับตามุมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐของเจ้าหน้าที่เฟด

          นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ 33.01/02 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวจากเปิดตลาด
เมื่อเช้าที่ระดับ 33.02 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 32.98-33.20 บาท/ดอลลาร์
          เงินบาทและสกุลเงินในภูมิภาคเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าเทียบดอลลาร์ จากปัจจัยตั้งแต่เมื่อคืนนี้ที่สหรัฐฯ และอังกฤษ
สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าได้ ขณะเดียวกัน ปัจจัยเงินบาทยังมาจากราคาทองคำที่ปรับตัวขึ้นลงระหว่างวันด้วย
          สำหรับประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ต้องติดตามคืนนี้ คือความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะออกมาพูดถึงมุม
มองทางด้านเศรษฐกิจ และนโยบายของเฟดที่จะดำเนินต่อไปจากนี้
          นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันอังคารไว้ที่ 32.90 - 33.20 บาท/ดอลลาร์
          
          *ปัจจัยสำคัญ
          - เงินเยน อยู่ที่ระดับ 145.17/18 เยน/ดอลลาร์ จากเมื่อเช้าที่ระดับ 146.06 เยน/ดอลลาร์
          - เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.1249/1250 ดอลลาร์/ยูโร จากเมื่อเช้าที่ระดับ 1.1218 ดอลลาร์/ยูโร
          - ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,210.94 จุด เพิ่มขึ้น 4.35 จุด (+0.36%) โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 40,958.44 ล้านบาท
          - สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 1,468.27 ลบ.
          - รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในเร็ว ๆ นี้ จะนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีการ
ทบทวนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการใช้เงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง รวมถึง "โครงการดิจิทัลวอลเล็ต" ด้วย โดยการ
ทบทวนในครั้งนี้ มาจากผลกระทบของมาตรการภาษีสหรัฐฯ รวมถึงกรณีที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ "มูดี้ส์" ออกมาเตือนเรื่องฐานะการ
คลังของไทย ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีหนังสือถึงกระทรวงการคลัง โดยอยากเห็นการปรับแผนการใช้เงินงบ
ประมาณ มุ่งเน้นไปที่การลงทุนมากขึ้น เพื่อรองรับการส่งออกที่อาจมีปัญหาในอนาคต
          - รมว.คลัง กล่าวว่า ในระยะสั้น รัฐบาลได้เตรียมแนวทางรองรับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ แล้ว ผ่าน
โครงการ Soft Loan ส่วนวงเงินคาดว่าจะไม่น้อยกว่าที่เคยดำเนินการในช่วงโควิด-19 โดยเม็ดเงินในส่วนนี้ จะเข้าไปช่วยเหลือภาค
ธุรกิจไม่ให้ได้รับผลกระทบ เบื้องต้นกระทรวงการคลังจะเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ย ส่วนแหล่งเงินที่จะใช้ดำเนินการยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
ว่าจะมาจากธปท. หรือสถาบันการเงิน เนื่องจากปัจจุบันสภาพคล่องในระบบของประเทศไทย ยังมีอยู่ค่อนข้างมาก
          - ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า ปัจจุบันผลกระทบจากนโยบายภาษีสหรัฐฯ ที่มีต่อเศรษฐกิจไทยอาจจะ
ยังไม่เห็นชัดเจนมากนัก แต่สิ่งที่พอมองเห็นบ้าง ได้แก่ ประเทศคู่ค้าต่างเร่งนำเข้าสินค้าในช่วงนี้ นักลงทุนชะลอการลงทุนออกไปก่อนเพื่อ
รอดูความชัดเจน โดยคาดว่าผลกระทบจะชัดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ภาพเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจเป็นรูปของ V shape แบบขากว้าง ซึ่งจะเริ่ม
เห็นเศรษฐกิจไทยชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาส 3 และน่าจะลงไปอยู่ในจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 4
          - ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงความจำเป็นในการทำโครงการกระตุ้นการบริโภคในบริบทของ
เศรษฐกิจปัจจุบัน โดยเฉพาะการเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลว่า ต้องขอบคุณรัฐบาลที่รับฟังความเห็น ธปท. ที่จะมีการ
ทบทวนความเหมาะสมของโครงการนี้ เพราะโครงการนี้จะต้องดูในเรื่องความคุ้มค่า ประสิทธิผลให้ดี และยิ่งยามนี้ที่สถานการณ์เศรษฐกิจ
เปลี่ยนไป ทั้งกรณีภาษีทรัมป์ บวกกับสินค้าจากต่างประเทศที่ทะลักเข้ามาในไทย ก็เป็นความเหมาะสมที่รัฐบาลจะทบทวน
          - ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า การลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งติดต่อกัน ถือว่าเพียงพอรองรับ
กับพายุเศรษฐกิจที่กำลังจะเข้ามาถึงไทยได้ในระดับหนึ่ง แต่หากมุมมองเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามีการ
เปลี่ยนแปลงไปจากภาพที่ธปท. มองในขณะนี้ ก็พร้อมจะปรับ
          - Krungthai COMPASS ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ของปี 68 จะอยู่ที่ 0.7% จากผลของฐานราคาพลังงาน
เป็นสำคัญ รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่แผ่ว และผลกระทบจากสงครามการค้าที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 
(H2/68) มีแนวโน้มอ่อนแอลง อีกทั้งราคาน้ำมันที่อาจปรับลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก จะเป็นปัจจัยสำคัญในการลดทอนเงินเฟ้อ
          - ผู้เชี่ยวชาญในวงการท่องเที่ยว มองว่า การที่เงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐนั้น อาจส่งผลดีต่อภาค
การท่องเที่ยวของกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้เงินดอลลาร์อย่างแพร่หลายในระบบเศรษฐกิจ ซ้ำเติมภาคการท่องเที่ยวไทยที่ขณะนี้ก็
ต้องแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนอยู่แล้ว เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์
          - ผู้นำสหรัฐฯ เปิดเผยในวันพฤหัสบดี (8 พ.ค.) ว่า การเจรจาการค้าระดับสูงระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในช่วงสุดสัปดาห์นี้ที่
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จะมีสาระสำคัญมากกว่าที่คาดคิดไว้ในตอนแรก และเขาจะไม่แปลกใจหากสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้
          - รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยในวันพฤหัสบดี (8 พ.ค.) ว่า สหรัฐฯ จะเปิดตัวข้อตกลงทางการค้าหลายสิบฉบับภายใน
เดือนหน้า แต่คาดว่าการเก็บภาษีจากแต่ละประเทศในอัตรา 10% จะไม่ถูกยกเลิก
          - รัฐมนตรีฟื้นฟูเศรษฐกิจและหัวหน้าผู้เจรจาของญี่ปุ่น กล่าวว่า ญี่ปุ่นจะยังคงเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกภาษีศุลกากรทั้งหมดที่
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กำหนดใช้กับญี่ปุ่น โดยถ้อยแถลงนี้มีขึ้นหลังจากที่สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรบรรลุข้อตกลงการค้า ซึ่งภาษีบาง
รายการของทรัมป์ต่อสินค้านำเข้าจากสหราชอาณาจักรจะยังคงมีผลบังคับใช้