
ข้อมูลจากสำนักงานความมั่นคงปลอดภัยและอินเทอร์เน็ตของเกาหลี (KISA) ระบุว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ในเกาหลีใต้ใช้จ่ายเฉลี่ย 2.9 พันล้านวอน (ราว 2.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปีสำหรับการป้องกันข้อมูล โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีบริษัทเกาหลีใต้ 10 แห่งลงทุนด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์มากกว่า 1 แสนล้านวอน
ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ (Samsung Electronics) ครองอันดับหนึ่งด้วยงบรวม 7.126 แสนล้านวอน ระหว่างปี 2564–2566 รองลงมาคือเคที คอร์ป (KT Corp) ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคม ที่ลงทุน 3.274 แสนล้านวอนในช่วงเดียวกัน
เอสเค เทเลคอม (SK Telecom) ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ซึ่งเพิ่งประสบเหตุข้อมูลรั่วไหลครั้งใหญ่ อยู่อันดับสามด้วยการใช้จ่าย 2.515 แสนล้านวอน
ส่วนบริษัทอื่น ๆ ใน 10 อันดับแรก ได้แก่ คูปัง (Coupang), เอสเค ไฮนิกซ์ (SK hynix), แอลจี ยูพลัส (LG Uplus), ซัมซุง เอสดีเอส (Samsung SDS), ธนาคารวูรี (Woori Bank), เนเวอร์ (Naver) และแอลจี อิเล็กทรอนิกส์ (LG Electronics)
ทั้งนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ออกข้อกำหนดเมื่อปี 2565 ให้บริษัทที่ดำเนินโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่าย หรือมีรายได้ต่อปีเกิน 3 แสนล้านวอน ต้องรายงานการลงทุนด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยในปี 2566 มีบริษัท 746 แห่งที่ยื่นรายงาน ทุ่มงบรวม 2.1 ล้านล้านวอน เพิ่มขึ้นจาก 1.5 ล้านล้านวอนในปี 2564 ซึ่งมีบริษัท 658 แห่งที่รายงาน
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า บริษัทเกาหลีใต้จำนวนมากยังมีความเสี่ยงสูงต่อการโจมตีทางไซเบอร์ เนื่องจากศักยภาพด้านความปลอดภัยยังไม่เพียงพอ แม้แต่เอสเค เทเลคอม ที่ลงทุนมากก็ยังตกเป็นเหยื่อการโจมตีทางไซเบอร์ หลายบริษัทอาจยังไม่รู้ตัวว่าถูกเจาะระบบไปแล้ว หรือมีช่องโหว่ที่ถูกแฮ็กเกอร์ระดับสูงใช้โจมตี บริษัทจึงต้องเฝ้าระวังและตรวจสอบระบบความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ค. 68)
Tags: ภัยไซเบอร์, เกาหลีใต้