ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจาก GfK และสถาบันนูเรมเบิร์กเพื่อการตัดสินใจด้านตลาด (NIM) ที่เผยแพร่ในวันนี้ (27 พ.ค.) ระบุว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเยอรมนีมีทิศทางดีขึ้นเล็กน้อยต่อเนื่องก่อนย่างเข้าสู่เดือนมิ.ย. แต่ความลังเลที่จะใช้จ่ายของภาคครัวเรือนยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้นสู่ระดับ -19.9 จุด จาก -20.8 จุดในเดือนก่อนหน้า ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้เล็กน้อยที่ -19.8 จุด
ปัจจัยบวกหลักมาจากแนวโน้มรายได้ที่ดีขึ้นในเดือนพ.ค. ซึ่งใช้ในการประเมินความเชื่อมั่นสำหรับเดือนถัดไป อย่างไรก็ตาม ความเต็มใจในการซื้อที่ลดลงและความเต็มใจในการออมที่มากขึ้น ก็เป็นตัวฉุดรั้ง
แม้จะเป็นการปรับขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันของดัชนีโดยรวม แต่อัตราการฟื้นตัวก็ชะลอลงเมื่อย่างเข้าสู่เดือนมิ.ย.
"ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงต่ำมาก และความไม่แน่นอนยังสูง" รอล์ฟ เบอร์เคิล หัวหน้านักวิเคราะห์ด้านผู้บริโภคของ NIM กล่าว พร้อมชี้ถึงความผันผวนจากประเด็นภาษีและตลาดหุ้น รวมถึงโอกาสที่เยอรมนีจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจไม่เติบโตเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน
"เมื่อดูจากภาพรวมเศรษฐกิจแล้ว ดูเหมือนผู้คนจะมองว่าควรเก็บออมเงินไว้ก่อน" เบอร์เคิลกล่าวเสริม
สถานการณ์นี้เกิดขึ้นแม้รัฐบาลใหม่ของเยอรมนีให้คำมั่นว่าจะเพิ่มการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจหดตัวมา 2 ปี แต่ปัญหาความขัดแย้งเรื่องภาษีกับสหรัฐฯ ที่คาดเดาได้ยาก ก็ยังคุกคามเศรษฐกิจเยอรมนีที่พึ่งพาการส่งออก จนรัฐบาลต้องยกเลิกเป้าการเติบโตปี 2569 ไปแล้ว
สำหรับตัวชี้วัดความเต็มใจในการซื้ออยู่ที่ -6.4 จุดในเดือนพ.ค. 2568 ลดลงจากระดับ -4.9 จุดในเดือนเม.ย. 2568 โดยดัชนีดังกล่าวแสดงถึงความแตกต่างระหว่างคำตอบเชิงบวกและเชิงลบต่อคำถามที่ว่า "คุณคิดว่าตอนนี้เป็นเวลาที่ดีในการซื้อของชิ้นใหญ่หรือไม่"
สำหรับตัวชี้วัดความเต็มใจในการออมอยู่ที่ 10.0 จุดในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้นจากระดับ 8.4 จุดในเดือนเม.ย.
ส่วนดัชนีความคาดหวังด้านรายได้อยู่ที่ 10.4 จุดในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้นจากระดับ 4.3 จุดในเดือนเม.ย. โดยดัชนีดังกล่าวสะท้อนถึงความคาดหวังเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสถานะทางการเงินของครัวเรือนในอีก 12 เดือนข้างหน้า
สำหรับดัชนีความคาดหวังด้านวัฏจักรธุรกิจอยู่ที่ 13.1 จุดในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้นจากระดับ 7.2 จุดในเดือนเม.ย. โดยดัชนีดังกล่าวแสดงถึงการประเมินของผู้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปในอีก 12 เดือนข้างหน้า
อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าวจัดทำขึ้นในระหว่างวันที่ 1-12 พ.ค. 2568