โบรกเล็งสินเชื่อธุรกิจใหญ่-สินเชื่อบ้านหนุนภาพรวมสินเชื่อแบงก์พาณิชย์ Q2/68 ฟื้นโต

ฝ่ายวิเคราะห์ บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล(ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานผลสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อในไตรมาส 2/68 เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 68 ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจขนาดใหญ่จะมีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น qoq เพื่อนำมาใช้เป็นเงินลงทุนระยะยาวและรีไฟแนนซ์หนี้/หุ้นกู้ ขณะที่ธุรกิจ SME จะมีความต้องการสินเชื่อลดลง

ส่วนความต้องการสินเชื่อของลูกค้ารายย่อย จะมาจากกลุ่มสินเชื่อบ้านหรือสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งได้รับแรงหนุนจาก ธปท.ผ่อนคลายเกณฑ์อัตราส่วนการให้เงินสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) และมาตรการลดค่าโอนค่าจดจำนองของกระทรวงการคลัง ขณะที่ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตน่าจะเพิ่มขึ้น จากการอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล แต่ความต้องการสินเชื่อรถน่าจะลดลง เพราะราคารถมือสองปรับลงเล็กน้อยในเดือนมี.ค.68

จากผลการสำรวจชี้ว่า ธนาคารจะยังใช้มาตรฐานการให้สินเชื่อที่เข้มงวดสำหรับสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่, สินเชื่อ SME, สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อรถในไตรมาส 2/68 แต่ธนาคารอาจผ่อนคลายมาตรฐานสำหรับสินเชื่อบ้านหรือสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เนื่องจากมีมาตรการสนับสนุนทั้งการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV และการปรับลด ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง จึงเชื่อว่าสถาบันการเงินจะเน้นขยายพอร์ตสินเชื่อจากลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมีคุณภาพสินทรัพย์ดีกว่า SME และลูกค้ารายย่อย ส่วนการขยายพอร์ตสินเชื่อบ้านจะเป็นแบบ selective โดยเน้นตลาดระดับบน ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจที่ชะลอตัวน้อยกว่า

ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ระบุว่า ธปท. เปิดเผยข้อมูลคุณภาพสินทรัพย์ในไตรมาส 1/68 โดยกลุ่มธนาคารพบว่าอุตสาหกรรมสำคัญมีอัตราส่วน NPL เพิ่มสูงขึ้น qoq และการที่สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อรถมีอัตราส่วน NPL สูงขึ้น ยังเป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ทั่วถึงและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลง นอกจากนี้ ยังพบว่าอัตราส่วนสินเชื่อ Stage 2 (underperforming) ของกลุ่มธนาคารและผลิตภัณฑ์สินเชื่อ รายย่อยทั้งหมดเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาส 1/68

ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ยังแนะนำคงน้ำหนักการลงทุน (Neutral) ในกลุ่มธนาคาร เพราะคาดว่ากำไรก่อนตั้งสำรอง (PPOP) จะเติบโตช้าในอัตรา -6.0%/+3.3%/+4.3% ในปี 68/69/70 ส่วน SCB และ KTB เป็นหุ้น Top pick เนื่องจากธนาคารทั้งสองแห่งน่าจะมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงที่ 5.8-8.1% ต่อปี รวมทั้งมีคุณภาพสินทรัพย์ดีและงบดุลแข็งแกร่ง ขณะที่กลุ่มธนาคารจะมี downside risk หาก NPL เพิ่มสูงขึ้นและธปท. ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม ส่วน upside risk จะมาจากนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทยมากขึ้นช่วยกระตุ้นการบริโภค รวมถึงความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ลดลงและการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ค. 68)

Tags: , , ,
Back to Top