กลุ่มแบงก์ดีดขึ้นยกแผง ขานรับขยายโครงการ”คุณสู้ เราช่วย”ช่วยลดการตั้งสำรอง-กด NPL ลง

กลุ่มแบงก์ปรับตัวขึ้นยกแผง เมื่อเวลา 11.00 น. ขานรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดส่งท้าย “อุ๊งอิ๊งค์ 1” เห็นชอบขยายเวลาโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ไปจนถึง 30 ก.ย. 68 พร้อมมาตรการแก้หนี้เพิ่มเติมเข้ามา

  • SCB บวก 1.27% มาที่ 119.50 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 684.26 ล้านบาท
  • KKP บวก 1.07% มาที่ 47.25 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 32.36 ล้านบาท
  • BAY บวก 0.95% มาที่ 21.20 บาท เพิ่มขึ้น 0.95 บาท มูลค่าซื้อขาย 3.82 แสนบาท
  • KTB บวก 0.47% มาที่ 21.60 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาท มูลค่าซื้อขาย 119.87 ล้านบาท
  • BBL บวก 0.35% มาที่ 141.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 128.74 ล้านบาท
  • KBANK บวก 0.32% มาที่ 155.00 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 914.93 ล้านบาท
  • TISCO บวก 0.25% มาที่ 97.75 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท มูลค่าซื้อขาย 86.79 ล้านบาท

บล.ดาโอ (ประเทศไทย) มีมุมมองเป็นกลางต่อการยืดอายุของโครงการคุณสู้เราช่วยออกไปอีก 3 เดือน สิ้นสุด 30 ก.ย. 68 จากเดิมที่สิ้นสุดเมื่อ 30 มิ.ย. 68 โดยเฟส 1 มียอดหนี้ที่ลงทะเบียนเข้ามาที่ 4.6 แสนล้านบาท คิดเป็นสินเชื่อที่เข้าร่วมโครงการนี้ไม่มากราว 1-2% ของสินเชื่อรวม โดยมาตรการนี้จะช่วยให้การตั้งสำรองฯ และสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ลดลงได้ในระยะยาว หากลูกหนี้ทำได้ตามเงื่อนไขให้ครบ 3 ปี แต่แลกมาด้วย NIM ที่หายไปในทันที เพราะไม่มีการรับรู้ดอกเบี้ยมาเป็นระยะเวลา 3 ปี

ส่วนมาตรการ จ่ายตรง คงทรัพย์ มีการเพิ่มเงื่อนไขค้างชำระตั้งแต่ 1-30 วัน หากลูกหนี้เคยผ่านการปรับโครงสร้างหนี้มาแล้ว และให้กับลูกหนี้ที่ค้างมากกว่า 365 วัน (เดิมให้เฉพาะที่ค้างชำระตั้งแต่ 31-365 วัน) ซึ่งมียอดหนี้ที่ลงทะเบียนเข้ามาที่ 4.6 แสนล้านบาท และมาตรการ จ่าย ปิด จบ มีการขยายวงเงินคงค้างเป็น 10,000 บาท (เดิม 5,000 บาท) หากเป็น Unsecured Loan และ 30,000 บาท (เดิม 5,000 บาท) หากเป็น Secured Loan ซึ่งมียอดหนี้ที่ลงทะเบียนเข้ามาที่ 216 ล้านบาท

ขณะที่ครั้งนี้มีการเพิ่มมาตรการใหม่ คือ มาตรการ จ่าย ตัด ต้น ซึ่งจะช่วย Unsecured Loan พวกบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเข้ามาเพิ่มขึ้น ซึ่งมียอดหนี้ที่ลงทะเบียนเข้ามาที่ 874 ล้านบาท

บล.ดาโอ คาดว่าลูกหนี้จะเข้าร่วมโครงการน้อย โดยเฉพาะมาตรการจ่าย ปิด จบ และมาตรการจ่าย ตัด ต้น ที่จะมีลูกหนี้เข้าโครงการน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่เป็น Unsecured Loan ที่นับตั้งแต่ 31 ต.ค.ซึ่งส่วนใหญ่แต่ละธนาคารจะมีการ write-off ลูกหนี้กลุ่มนี้ค่อนข้างเร็วภายใน 3-6 เดือน ขณะที่มาตรการ จ่ายตรง คงทรัพย์ จะมีลูกหนี้เข้าโครงการเยอะมากกว่า แต่เชื่อว่าจะไม่มากนัก เพราะลูกหนี้ที่เข้าโครงการ คุณสู้ เราช่วย จะไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มใน 12 เดือนแรก ซึ่งธนาคารที่มีสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยเรียงจากมาก-น้อย ได้แก่ TISCO (68%), KKP (68%), TTB (62%), KTB (46%), SCB (40%) และ KBANK (28%)

โดยที่ยังคงน้ำหนักเป็น “มากกว่าตลาด” เพราะ valuation ยังถูก โดยเทรดที่ระดับเพียง 0.65x PBV (-1.25SD below 10-yr average PBV) และระดับ Dividend yield ของกลุ่มที่อยู่สูงถึง 7% จากค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นไทยที่ 3%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ค. 68)