ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 380,453 ลบ.

          สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (7 - 11 กรกฎาคม 2568) 

          ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 380,453 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 95,113 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 20%
ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้ว จะพบว่ากว่า 52% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 197,601 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดย
ธนาคารแห่งประเทศไทย (state Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดย
กระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 141,949 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขาย
เท่ากับ 23,665 ล้านบาท หรือคิดเป็น 37% และ 6% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

          สำหรับพันธบัตรรัฐบาล ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB284A (อายุ 2.8 ปี) LB436A (อายุ 17.9 ปี) และ LB353A (อายุ 9.7 ปี) 
โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 18,346 ล้านบาท 14,312 ล้านบาท และ 13,728 ล้านบาท ตามลำดับ

          ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด รุ่น KCC263A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 
4,306 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) รุ่น CPALL359B (AA-) มูลค่าการซื้อขาย 1,356 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 
รุ่น TRUE257A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 1,064 ล้านบาท

          อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง 2-5 bps. หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเรียกเก็บภาษีประเทศไทยในอัตรา 36% 
เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับเดิมที่ประกาศไว้เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ขณะที่รายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เมื่อวันที่ 17-18 มิ.ย. 
กรรมการเฟดส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เนื่องจากคาดว่าผลกระทบของมาตรการภาษีศุลกากรที่มีต่อเงินเฟ้อนั้นจะไม่มากนักและเป็นผลกระทบชั่วคราว 
ด้านปัจจัยในประเทศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน มิ.ย.68 อยู่ที่ 100.42 
ลดลง 0.25% (YoY) เนื่องจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) 
ของไทยในครึ่งปีหลัง ชะลอตัวลงเหลือเพียง 1.6% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีการค้าของสหรัฐฯ 

          สัปดาห์ที่ผ่านมา (7 - 11 กรกฎาคม 2568) กระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลออกตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิ 2,824 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิ
ในตราสารหนี้ระยะสั้น (ST) (อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี) 1,317 ล้านบาท และขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว (LT) (อายุมากกว่า 1 ปี) 3,509 ล้านบาท 
และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 631 ล้านบาท

          หมายเหตุ: อันดับเครดิต หมายถึง อันดับเครดิตของหุ้นกู้เฉพาะรุ่น หรือ อันดับเครดิตของผู้ออกหุ้นกู้
          ดัชนีหุ้นกู้เอกชน (Corp Bond Gross Price Index) เปลี่ยนเป็น ดัชนีหุ้นกู้เอกชน(MTM Corp Bond Gross Price Index) ตั้งแต่ ม.ค. 2565

ความเคลื่อนไหวในตลาดตราสารหนี้ไทย                                   สัปดาห์นี้             สัปดาห์ก่อนหน้า      เปลี่ยนแปลง             สะสมตั้งแต่ต้นปี
                                                       (7 - 11 ก.ค. 68)  (30 มิ.ย. - 4 ก.ค. 68)            (%)   (1 ม.ค. - 11 ก.ค. 68)
มูลค่าการซื้อขาย แบบปกติ - Outright Trading (ล้านบาท)              380,452.73             473,013.78        -19.57%           11,490,727.00
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน (ล้านบาท)                                 95,113.18              94,602.76          0.54%               90,478.17
ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Gross Price index)                      114.42                 113.91          0.45%                 
ดัชนีหุ้นกู้เอกชน (MTM Corp Bond Gross Price Index)                    109.17                 109.07          0.09%                 

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Yield Curve) --%
ช่วงอายุของตราสารหนี้                   1 เดือน     6 เดือน     1 ปี     3 ปี     5 ปี     10 ปี     15 ปี     30 ปี
สัปดาห์นี้ (11 ก.ค. 68)                   1.45       1.45    1.45    1.37    1.41     1.55     1.71     2.16
สัปดาห์ก่อนหน้า (4 ก.ค. 68)               1.47       1.46    1.46    1.42    1.45      1.6     1.73     2.19
เปลี่ยนแปลง (basis point)                 -2         -1      -1      -5      -4       -5       -2       -3