ธปท.ไม่ปลื้ม GDP ไทยปี 63 คาดโต 2.8% ต่ำกว่าศักยภาพยังเผชิญแรงกดดันสูงสงครามการค้าแนะปฎิรูปโครงสร้าง

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา “Thailand Economic Outlook : เศรษฐกิจไทย 2020” คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 63 จะขยายตัวได้ 2.8% สูงกว่าปีนี้ที่อาจเติบโตไม่เกิน 2.5% ซึ่ง ธปท.ยังไม่พอใจกับตัวเลขดังกล่าวเท่าที่ควร เพราะเป็นการเติบโตที่ไม่เป็นไปตามศักยภาพที่ควรเติบโตได้ราว 3.5-4% เนื่องจากยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยภายนอกที่สร้างความไม่แน่นอน โดยเฉพาะสงครามการค้า ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทิศทางของค่าเงินที่ส่งผลต่อความเสี่ยงด้านต่ำ ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะมาจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่เข้ามาเสริม หลังจากที่การพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 เกิดความล่าช้า คาดว่าจะสามารถอนุมัติและเริ่มเบิกจ่ายในช่วงเดือน ก.พ.63 ทำให้ในปีหน้าจะมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ทยอยออกมาเป็นแรงหนุนเสริมให้กับเศรษฐกิจไทย

สำหรับการส่งออกในปีหน้าคาดว่าจะกลับมาเป็นบวก หลังจากที่ในปีนี้คาดว่าจะติดลบราว 3-4% ซึ่งภาพของการค้าโลกในปีหน้าธปท.มองว่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นจากปีนี้ที่ถือว่าเป็นปีที่ต่ำสุด จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ส่งผลกระทบต่อการค้าและการผลิตในภูมิภาคที่เป็นห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญได้รับผลกระทบ ทำให้การค้าและการผลิตชะลอตัว และกระทบมาถึงการส่งออกของไทยด้วย แต่มองว่าปัจจุบันเริ่มเห็นการผลิตในบางทวีป โดยเฉพาะยุโรปที่เริ่มกลับมาแล้ว เนื่องจากสต็อกเริ่มลดลงไปมาก ทำให้จำเป็นต้องกลับมาผลิต ซึ่งจะเป็นแนวโน้มที่ผู้ผลิตทั่วโลกจะกลับมาผลิตอีกครั้ง และส่งผลต่อการค้าโลกในปีหน้ากลับมาฟื้นตัว ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทย

ขณะเดียวกันปัจจัยในประเทศยังเป็นเรื่องสำคัญที่ ธปท.ยังให้ความสำคัญและติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านคุณภาพของหนี้ ซึ่งปัจจุบันผลกระทบของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ยังมีการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น โดยมีลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้และถูกฟ้องไปแล้วมีมูลหนี้รวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท ทำให้ ธปท.เล็งเห็นถึงการการช่วยเหลือด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งจะร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และสมาคมธนาคารไทย ในการหาแนวทางช่วยเหลือและปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสม หลังจากที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินลงมา 2 ครั้งในปีนี้ มาอยู่ที่ 1.25% ช่วยลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการและกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายวิรไท กล่าวต่อว่า นโยบายการเงิน ธปท.ยังมองว่าเป็นเครื่องมือที่ยังสามารถใช้ได้ หากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มไม่เป็นไปตามที่ธปท.คาด ทำให้อาจจะต้องนำนโยบายการเงินมาเป็นเครื่องมือในการใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งต้องสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ ประกอบกับการพิจารณาเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อและเสถียรภาพของระบบการเงินไทยว่าเป็นอย่างไรมาประกอบการพิจารณาในการนำนโยบายการเงินมาใช้

อย่างไรก็ตาม ธปท.มองว่านโยบายการคลังจะเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตรงจุดมากกว่า เพราะการที่รัฐบาลอัดฉีดเมึดเงินลงไปสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง และใช้ระยะเวลาไม่นานในการเห็นผล แต่จะต้องคำนึงผลในระยะยาวประกอบด้วย โดยเฉพาะเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน

ส่วนการดูแลค่าเงินบาทนั้น นายวิรไท กล่าวว่า ธปท.ยังคงดูแลอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันค่าเงินบาทยังคงแข็งค่า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกส่งผลกระทบต่อค่าเงินสกุลต่างในโลกด้วย ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังเกินดุลในระดับสูงถึง 6% ของ GDP หรือเกินดุลอยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ ธปท.มองว่าในปีหน้าจะมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงมาที่ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อีกทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงขึ้น 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมอยู่ที่ 2.2 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งธปท.ได้มีการนำเงินออกไปซื้อเงินตราต่างประเทศ ประกอบกับในช่วงกลางปีมีการออกมาตรการควบคุมกระแสเงินทุนที่ไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ เพื่อดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามาจนเกินไป

นายวิรไท กล่าวว่า แต่การดูแลค่าเงินบาทยังต้องทำอย่างระมัดระวัง ซึ่ง ธปท.แนะนำให้ผู้ประกอบการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงค่าเงินให้มากขึ้น เพราะผู้ประกอบการไทยมีการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงน้อยมาก ต่างกับหลายๆประเทศที่ธนาคารกลางไม่ได้มีการแทรกแซงค่าเงินเลย แต่ผู้ประกอบการยังสามารถดำเนินธุรกิจไปได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ ธปท.อยู่ระหว่างการศึกษา

ทั้งนี้ ธปท.มองว่าใน 3 ปีข้างหน้าการเงินโลกยังคงเผชิญกับความเสี่ยงที่หลากหลาย ดังนั้นทุกคนต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้มากขึ้นต่องมีการเปลี่ยนแปลงให้เท่าทันต่อสิ่งที่กำลังจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจ ซึ่งสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้สอดคล้องกับแนวโน้มในอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และพร้อมรับกับความท้าทายจากปัจจัยภายนอก อีกทั้งจำเป็นต้องกระจายรายได้ให้ทั่วถึงมากขึ้นไปสู่ผู้ประกอบการรายย่อยอื่นๆที่มีอยู่มาก โดยไม่กระจุกตัวอยู่ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างเช่นปัจจุบัน จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยสามารถเติบโตได้ตามศักภาพ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ธ.ค. 62)

Back to Top