Media Talk: ธุรกิจยานยนต์ สกินแคร์ และสื่อสาร ทุ่มเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลสูงสุด 3 อันดับแรกในปี 2019

สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ร่วมกับบริษัทวิจัยชั้นนำอย่างคันทาร์ (ประเทศไทย) เผยธุรกิจยานยนต์ สกินแคร์ และการสื่อสาร ทุ่มเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลสูงที่สุด 3 อันดับแรกในปี 2019 ขณะที่ Facebook และ Youtube รั้งแพลตฟอร์มหลักที่แบรนด์เลือกใช้ในการสื่อสารกับผู้บริโภค

นอกจากนี้ ทางสมาคมฯและคันทาร์ ได้ร่วมกันเปิดเผยมูลค่าเม็ดเงินลงทุนผ่านสื่อดิจิทัลในการแถลงข่าวผ่านทางวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันโควิด-19

สำหรับผู้ที่มาร่วมแถลงข่าววันนี้ นำโดย ดร.อาภาภัทร บุญรอด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คันทาร์ (ประเทศไทย) และได้เชิญ 3 ผู้เชี่ยวชาญในวงการโฆษณาดิจิทัลมาร่วมพูดคุยถึงความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวแทนจากสมาคมโฆษณาดิจิทัล ได้แก่ คุณราชศักดิ์ อัศวศุภชัย Digital Business Director ของ IPG Mediabrands Digital, คุณพัชรี เพิ่มวงศ์อัศวะ Business Unit Head – Digital ประจำ Publicis Media และคุณชาญชัย พงศนันทน์ Head of Digital Investment ประจำ Dentsu Aegis Network

ผลสำรวจพบว่า เม็ดเงินลงทุนเพื่อโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลปี 2019 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับปี 2018 แตะ 19,555 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่ก็น้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 20,163 ล้านบาท และยังเติบโตในอัตราน้อยกว่าของปี 2017 และ 2018 ที่ล้วนโตทะลุหลัก 30%

คุณราชศักดิ์ เปิดเผยว่า สาเหตุที่ทำให้เม็ดเงินโฆษณาปี 2019 โตไม่ถึงที่คาดการณ์ไว้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วเศรษฐกิจได้ส่งสัญญาณลบ โดยเห็นได้ชัดจากยอดขายรถยนต์ช่วง Motor Expo ส่งท้ายปีที่ลดลง นอกจากนี้ ช่วงท้ายปียังเริ่มมีข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย

ปี 2019 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมที่ลงทุนกับการโฆษณาดิจิทัลมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ยานยนต์ สกินแคร์ และการสื่อสาร โดยแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง Facebook และ YouTube ยังคงเป็นแพลตฟอร์มหลักที่แบรนด์ต่าง ๆ เลือกใช้ในการสื่อสารกับผู้บริโภค ขณะที่เครื่องมืออื่น ๆ เช่น Creative, Display และ Search ยังคงมีอันดับเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้า

Facebook รั้งแพลตฟอร์มยอดนิยม ขณะแบรนด์สกินแคร์ให้ความสำคัญกับ IG และ Twitter มากขึ้น

เมื่อแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมแล้ว คุณพัชรี เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจยานยนต์ได้หันมาใช้ Facebook ทำการตลาดมากขึ้น เนื่องจาก Facebook มีข้อมูลกลุ่มเป้าหมายสะสมเป็นจำนวนมาก ทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้นำไปต่อยอดได้หลากหลาย ทั้งยังมีเครื่องมือ Lookalike ที่แม่นยำ ทำให้เข้าถึงว่าที่ลูกค้ารายใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี ธุรกิจยานยนต์ก็ยังไม่ลืมที่จะโฆษณาผ่านช่องทาง Display เช่น แบนเนอร์ตามเว็บไซต์ และ Search เพื่อให้แบรนด์ยังคงเป็นที่รับรู้

ด้านคุณชาญชัย เสริมว่า สำหรับธุรกิจสกินแคร์นั้น แพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในการใช้โฆษณาคือ Instagram และ Twitter ผสมกับการใช้อินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งแม้ไม่ได้มีสัดส่วนมากเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่นในธุรกิจสกินแคร์ แต่ก็ถือว่ามีสัดส่วนที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ คุณชาญชัย ให้เหตุผลไว้ว่าเป็นเพราะ Instagram และ Twitter เป็นแพลตฟอร์มที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจสกินแคร์ได้อย่างตรงจุด โดย Twitter เหมาะกับการใช้เจาะกลุ่มวัยรุ่น ส่วน Instagram เหมาะในการสร้างความสนใจให้กับตัวสินค้า และเมื่อดึงอินฟลูเอนเซอร์บนสองแพลตฟอร์มนี้มาร่วมโปรโมทด้วยแล้ว ผลิตภัณฑ์สกินแคร์ก็จะกลายเป็นเรื่องราวที่พูดถึงได้ไม่ยาก

คุณพัชรี เปิดเผยว่า เม็ดเงินโฆษณาผ่าน Instagram และ Twitter นั้นขยายตัวตามจำนวนผู้ใช้งาน โดย Twitter มีอินฟลูเอนเซอร์ช่วยจุดกระแสมากมาย เห็นได้ชัดจากการที่ธุรกิจการสื่อสาร (ผู้ให้บริการโทรคมนาคมและผู้ผลิตอุปกรณ์ไอที) หันมาใช้ Twitter ในการสร้างกระแสโปรโมทแคมเปญและแนะนำโปรโมชันต่าง ๆ แบบเรียลไทม์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางให้ได้ในวันแรก ๆ ที่เปิดตัว

ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์นั้น คุณราชศักดิ์ เปิดเผยว่า แบรนด์กลุ่มนี้ได้หันมาอาศัยช่องทาง Social ในการโปรโมทสินค้า โดยช่องทาง Social ที่ว่านี้หมายถึงการทำคอนเทนต์สปอนเซอร์ แอดเวอร์ทอเรียล และการโปรโมทผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งหมายความว่า แบรนด์จะไม่ได้สื่อสารถึงผู้บริโภคโดยตรง แต่ทำผ่านบุคคลที่สามแทน

สำหรับ LINE ได้รับความนิยมในกลุ่มธุรกิจการสื่อสารและธนาคาร โดยกลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคม เช่น AIS, DTAC และ TRUE ให้ความสำคัญกับ LINE ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพราะ LINE เปรียบเสมือนแพลตฟอร์มบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) เพื่อดึงลูกค้าให้อยู่กับแบรนด์ เช่น จากการให้ลูกค้าติดตามข่าวสารและโปรโมชันใหม่ ๆ ของบริษัทผ่านทาง LINE Official Account

โดยสำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มี.ค. 63)

Tags: ,
Back to Top