TALK: นักวิเคราะห์ ห่วงปิด”กองทุนตราสารหนี้”หวั่นลุกลามเป็นวิกฤตโดมิโน

แม้ว่าการลงทุนในสินทรัพย์ตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้น แต่สัญญาณบ่งชี้แรงขายอย่างหนักก็เริ่มชัดเจนมากขึ้น ภายหลัง บลจ.ทหารไทย อีสท์สปริง ประกาศยกเลิกกองทุนเปิดทหารไทย ธนไพบูลย์ และ กองทุนเปิดทหารไทย ธนเพิ่มพูน โดยยกเลิกดำเนินธุรกรรรมทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.63 เนื่องจากเกิดการไถ่ถอนหน่วยลงทุนเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 16 -25 มี.ค.63 ทำให้สินทรัพย์ของทั้งสองกองทุนลดลงถึง 50-70% จากความตระหนก (Panic Sell)

และล่าสุดวานนี้ บลจ.ทหารไทย อีสท์สปริง ยังประกาศปิด กองทุนเปิดทหารไทย ธนพลัส และกองทุนเปิดทหารไทย ธนไพศาล เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 16 – 26 มี.ค.63 มีปริมาณการขายหน่วยลงทุนสูงถึง 67% และ 66% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนตามลำดับ และโดยเฉพาะการเทขายอย่างรุนแรงในวันที่ 26 มี.ค.63 ซึ่งคิดเป็นปริมาณ 33% และ 51% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนตามลำดับ ในขณะที่สภาพตลาดตราสารหนี้กลับเบาบาง

ประเด็นนี้ นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์”ว่า กรณียกเลิกกองทุนตราสารหนี้ดังกล่าว อาจทำให้นักลงทุนที่ถือครองหน่วยลงทุนในกองทุนตราสารหนี้เริ่มมีความกังวลและไม่เชื่อมั่นตลาดตราสารหนี้ อาจเป็นชนวนให้เกิดเป็นโดมิโนกับกองทุนที่มีนโยบายลงทุนคล้ายกับ 2 กองทุนดังกล่าวได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบโดมิโนตลาดตราสารหนี้รอบนี้อาจไม่รุนแรง ฉะนั้น ต้องติดตามมาตรการดูแลตลาดตราสารหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าหลังจากนี้จะขยายวงเข้าไปเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิตประเภทอื่น ๆ ด้วยหรือไม่

“แม้ว่าตลาดตราสารหนี้มีมูลค่าใหญ่มาก แต่สภาพคล่องในตลาดรองไม่สูง เนื่องจากมีความนิยมซื้อขายกันในตลาดแรกมากกว่า ซึ่งปัจจุบันผู้ที่ถือหน่วยลงทุนในตราสารหนี้ต้องการไถ่ถอนเพื่อมาเสริมสภาพคล่องให้กับตัวเองจากเศรษฐกิจย่ำแย่ นอกจากนั้นผู้ถือหน่วยตราสารหนี้มีความเชื่อมั่นลดลง เพราะกังวลว่าบริษัทเอกชนอาจมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ในระยะถัดไป แต่สิ่งที่เป็นกังวลมากกว่านั้นก็คือโดมิโนตราสารหนี้อาจลุกลามมายังตลาดหุ้น เพราะตลาดหุ้นยังไม่รับรู้ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น มองว่าระบบการจัดการยังเป็นไปได้ด้วยดี แต่ในเมื่อแผลเปิดขึ้นมาแล้ว สถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อต่อไปเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ประเด็นกำไรบริษัทจดทะเบียนลดลง แต่เป็นความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้บริษัทจดทะเบียนนับเป็นเรื่องใหญ่มาก”

นายประกิต กล่าว

นายประกิต กล่าวต่อว่า แม้ว่ากองทุนตราสารหนี้ปรับลดลงมา ทำให้ผลตตอบแทนเงินปันผลสูง แต่นักลงทุนต้องเลือกกองทุนฯที่มีนโยบายลงทุนตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิต A ขึ้นไปและครอบคุมกับมาตรการ ธปท.เข้ามาช่วยประคองสภาพคล่อง และควรหลีกเลี่ยงตราสารหนี้ที่มีเครดิตต่ำกว่า Investment Grade ซึ่งมีความเสี่ยงสูงอย่างมากในภาวะเช่นนี้

ตามเอกสารรายงานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่าตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศที่มีคุณภาพ ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มี rating ตั้งแต่ A- ขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 70% โดยเปิดให้สถาบันการเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวม daily fixed income สามารถนำหน่วยลงทุนของกองทุนรวมมาวางเป็นหลักประกันเพื่อขอสภาพคล่องจาก ธปท.

รวมทั้งเปิดให้สถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือกองทุนรวมดังกล่าว สามารถนำตราสารในประเทศที่คุณภาพดีมาใช้เป็นหลักประกันในการขอสภาพคล่องจาก ธปท. ได้ และ ก.ล.ต. ได้ออกมาตรการผ่อนคลายให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) สามารถกู้ยืมเงินหรือทำธุรกรรม repo เพื่อบริหารสภาพคล่องเป็นการชั่วคราวได้มากขึ้นจากเดิม 10% ของ NAV เป็น 30% ของ NAV อีกด้วยนั้น

ก.ล.ต. เห็นว่ามาตรการของ ธปท. และ ก.ล.ต. ดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติมให้กอง daily fixed income โดยปริมาณการไถ่ถอนหน่วยลงทุนโดยทั่วไปมีแนวโน้มลดลง และยังไม่มีกองทุนรวมตราสารหนี้ใดที่มีการกู้ยืมเงินหรือทำธุรกรรม repo เพื่อเสริมสภาพคล่องเกิน 10% ของ NAV นอกจากนี้ ธปท. ยังได้แถลงด้วยว่า ภาพรวมตลาดการเงินไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น และปริมาณการขอรับความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องจาก ธปท. มีจำนวนน้อย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มี.ค. 63)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top