ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้มาตรการ ธปท.ตรงจุด ช่วยเพิ่มสภาพคล่องเอกชน-ฟื้นกลไกการเงิน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ซึ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นตามความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะส่งผลดีต่อประสิทธิผลในการฟื้นกลไกทางการเงินให้กลับสู่ปกติได้อย่างรวดเร็วตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้

ในภาพรวมของมาตรการที่ ธปท.ออกมาสะท้อนถึงความพยายามและความตั้งใจของทางการที่จะแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด โดยมุ่งเน้นการช่วยเสริมสภาพคล่องของระบบการเงินไทย ควบคู่ไปกับการพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของตลาดการเงิน เพื่อให้กลไกการทำงานของระบบการเงินยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ตามปกติ

ปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดผลสัมฤทธิ์ของมาตรการครั้งนี้ คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศที่ทำให้มองเห็นภาพแนวโน้มเศรษฐกิจหลังจากนี้ชัดเจนขึ้น และมีผลต่อเนื่องมายังความเชื่อมั่นของตลาดและนักลงทุน รวมถึงการประเมินแนวโน้มธุรกิจและความสามารถในการชำระหนี้ของกิจการ หากการควบคุมการระบาดของไวรัสฯ มีแนวโน้มที่ดีขึ้นจะทำให้มาตรการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการของทางการไทยในรอบนี้มีความคืบหน้าและมีการใช้เม็ดเงินโครงการที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น สุดท้ายแล้ว คงจะส่งผลดีต่อประสิทธิผลในการฟื้นกลไกทางการเงินให้กลับสู่ปกติได้อย่างรวดเร็วสมดังเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้

โดยมาตรการดังกล่าวจะเป็นการบรรเทาปัญหาสภาพคล่องและเสริมสภาพคล่องระยะสั้นให้กับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีแนวโน้มรุนแรงและต้องใช้เวลาอีกระยะในการคลี่คลายสถานการณ์ นอกจากนี้ ธปท.ยังมีมาตรการดูแลเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้เอกชนเพิ่มเติม เพื่อให้ช่องทางการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ของบริษัทที่มีคุณภาพยังทำงานได้ต่อเนื่อง ซึ่งประกอบด้วย

1.การเลื่อนกำหนดชำระหนี้สำหรับธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารและสถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยได้รับสิทธิ์เป็นการทั่วไปในการเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องชั่วคราว

2.การสนับสนุนสินเชื่อใหม่ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loans) วงเงินโครงการ 5 แสนล้านบาท ระยะเวลา 2 ปี สำหรับ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารไม่เกิน 500 ล้านบาท และมีสถานะผ่อนชำระปกติ (ไม่เป็น NPL) ณ ธ.ค.62 และไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดย ธปท.จัดสรรซอฟท์โลนให้กับธนาคารในอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อให้ธนาคารจัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนที่ 2% ต่อปี สำหรับ SMEs ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศ วงเงินขอกู้สินเชื่อเพิ่มเติมของ SMEs ต้องไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้างเดิมที่มีกับสถาบันการเงิน ณ ธ.ค.62

โดยการเบิกใช้และการอนุมัติวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมสำหรับ SMEs ในช่วงหลังจากนี้ยังคงขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไข โดยเฉพาะข้อมูลและการประเมินความเสี่ยงของผู้กู้ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับ SMEs ซึ่งอาจช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาตำแหน่งงานให้กับลูกจ้างของกิจการ

3.มาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน วงเงินมาตรการ 4 แสนล้านบาท จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (BSF) เพื่อเป็นแหล่งเงินสำรองชั่วคราวกองทุน BSF ซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทที่มีคุณภาพดีที่มีกำหนดไถ่ถอนในช่วงปี 2563-2564

เงื่อนไขสำคัญของบริษัทที่ขอความช่วยเหลือจากกองทุน BSF บริษัทจะต้องมีการระดมทุนจากแหล่งเงินทุนอื่นๆ อาทิ สินเชื่อและการเพิ่มทุนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของวงเงินหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน อัตราดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับกองทุน BSF จะต้องสูงกว่าอัตราในตลาด หลักประกันของตราสารหนี้ที่กองทุน BSF ลงทุนต้องไม่ด้อยกว่าหลักประกันที่ให้แก่ผู้ถือตราสารหนี้อื่น เพื่อช่วยให้การระดมทุนของกิจการที่มีคุณภาพดี มีความราบรื่น และบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความผันผวนของตลาดการเงิน และดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน

4.ลดเงินนำส่งสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) ของสถาบันการเงินลงมาที่ 0.23% จากเดิม 0.46% ของฐานเงินฝาก เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนให้กับสถาบันการเงิน หลังจากที่มีภาระในการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการดังกล่าวถือว่ามีกรอบมูลค่าขนาดใหญ่เข้าใกล้ระดับ 1 ล้านล้านบาท ขณะที่ความรวดเร็วของการผลักดันมาตรการต่างๆ ในทางปฏิบัตินั้น อาจแปรผันตามเงื่อนไขของแต่ละมาตรการ รวมถึงบรรยากาศเศรษฐกิจในภาพรวม กล่าวคือ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loans) สำหรับธุรกิจ SMEs หากพิจารณาจากในทางทฤษฎี และประเมินบนวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมสำหรับลูกค้า SMEs โดยเฉลี่ยที่ประมาณ 1.5 ล้านบาทต่อราย จะมีจำนวน SMEs ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการนี้ประมาณ 3.3 แสนราย ทำให้ธุรกิจ SMEs จำนวนไม่น้อยมีสภาพคล่องไปต่อลมหายใจทางธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการรักษาสภาพการจ้างงานให้กับลูกจ้างบางส่วนด้วย

อย่างไรก็ดี ความคืบหน้าของการเบิกใช้และการอนุมัติวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมในทางปฏิบัติ ยังขึ้นอยู่กับอีกหลายเงื่อนไขด้วยเช่นกัน ทั้งความพร้อมของลูกหนี้ และความสามารถในการรับส่วนสูญเสียจากการปล่อยสินเชื่อเพิ่มของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งที่แตกต่างกัน โดยฝั่งลูกหนี้จะได้สินเชื่อเพิ่มหรือไม่ หรือมากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับความจำเป็นที่แท้จริงเชิงธุรกิจ ประวัติและข้อมูลเครดิตต่างๆ วงเงินสินเชื่อเดิมของกิจการแต่ละราย ตลอดจนความสามารถในการชำระหนี้คืนในอนาคต

ขณะที่ฝั่งธนาคารพาณิชย์ก็จะต้องประเมินความสามารถในการรับมือกับส่วนสูญเสีย แม้ว่าจะมีกระทรวงการคลังช่วยรับในบางส่วนในกรณีที่สินเชื่อเสริมสภาพคล่องปล่อยใหม่ดังกล่าวกลายเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพในระหว่างช่วงระยะเวลาของมาตรการ เช่นเดียวกับความพร้อมด้านเงินกองทุนในการรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจระยะนี้ รวมถึงสินเชื่อปล่อยใหม่ภายใต้โครงการที่ยังมีส่วนหนึ่งที่ต้องนำไปคำนวณเป็นสินทรัพย์เสี่ยงด้วย

ในส่วนของกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (BSF)นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้กลไกการทำงานของกองทุน BSF ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยลดปัญหาการระดมทุนเพื่อ Rollover หุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนของบริษัทที่มีคุณภาพ ซึ่งจนถึงสิ้นปี 2563 จะมีหุ้นกู้ระยะยาวดังกล่าว (ไม่นับรวมหุ้นกู้ของธนาคาร) อีกประมาณ 4.63 แสนล้านบาท

แต่ความสำเร็จในการระดมทุนใหม่ (Rollover) หุ้นกู้ดังกล่าว ยังขึ้นกับความสามารถของกิจการหรือบริษัทในการระดมทุนด้วยตนเองให้ถึงจำนวนกึ่งหนึ่งของจำนวนตราสารหนี้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนตามเกณฑ์ของกองทุน BSF ตั้งเงื่อนไขไว้ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ยังต้องติดตาม ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง อาจส่งผลกระทบทั้งรายได้ของกิจการ และความต้องการลงทุนของนักลงทุนในระยะนี้

ขณะที่ผู้ลงทุนควรตระหนักว่ากลไกของ BSF ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็นกลไกค้ำประกันความเสี่ยงจากการลงทุนหุ้นกู้ ดังนั้น นักลงทุนน่าจะยังคงพิจารณาแนวโน้มการดำเนินการจากปัจจัยพื้นฐานของกิจการและปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจอื่นๆ ด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนดังกล่าวได้

สำหรับการช่วยลดภาระเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูฯ และการผ่อนคลายหลักเกณฑ์อื่นๆ ได้แก่ การผ่อนเกณฑ์การดำรงอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ให้ต่ำกว่า 100% เป็นการชั่วคราว รวมถึงการปรับการคำนวณน้ำหนักความเสี่ยงของลูกหนี้ที่เข้ารับความช่วยเหลือจากมาตรการ ธปท. คงมีผลในการช่วยแบ่งเบาภาระให้กับสถาบันการเงิน

โดยหากยกตัวอย่างการปรับลดเงินนำส่งเข้า FIDF ในครั้งนี้ จะช่วยทำให้ต้นทุนของสถาบันการเงินลดลงประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี ในภาวะที่รายรับดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ หดหายไปจากการเดินหน้าโครงการพักชำระหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือน รวมถึงภาระเพิ่มเติมจากมาตรการต่างๆ ในรอบนี้และที่อาจมีตามมาอีกในอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 เม.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top