AOT ปรับแผนเพิ่มรายได้ Non-Aero พร้อมลุยลงทุนขยายสนามบินหวังกลับมาโต

บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT)หรือ ทอท.รับความท้าทายท่ามกลางเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดเริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค.63 จนถึงวันนี้สนามบินทุกแห่งแทบร้าง ยอมรับปีนี้ผลผลประกอบการทั้งรายได้และกำไรหดวูบ แต่ปรับแผนธุรกิจโดยเน้นสร้างรายได้จากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน (Non-Aero) หวังประคองธุรกิจ

ในระหว่างที่ธุรกิจการบินยังต้องลุ้นการค้นพบวัตซีนป้องกันโรคช่วยหนุนการกลับมาฟื้นตัวก่อน แต่ยังเชื่อทะยานต่อช่วงปี 67-68 จากการลงทุนขยายความสามารถรองรับผู้โดยสารที่คาดว่าการเดินทางจะกลับมาดีหลังผ่านวิกฤติโควิด-19

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT ระบุว่า บริษัทได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) สั่งห้ามบินเข้าประเทศไทยชั่วคราวตั้งแต่ 7-18 เม.ย. นี้ ทำให้เที่ยวบินระหว่างประเทศลดลงชัดเจน โดยคาดการณ์ว่าในงวดปี 62/63 (ต.ค. 62-ก.ย.63) จำนวนผู้โดยสารจะติดลบ 30-40% หรือลดลงกว่า 50 ล้านคน จากการประเมินตัวเลขทั้งปีที่ 140 ล้านคน/ปีจากทั้ง 6 สนามบินที่ AOT บริหาร (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต หาดใหญ่) หรือ จำนวนกว่า 4 แสนคน/วัน

ทั้งนี้ จำนวนผู้โดยสารเส้นทางระหว่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 60% ของปริมาณผู้โดยสารทั้งหมด ส่วน 40% เป็นผู้โดยสารจากเส้นทางในประเทศ ดังนั้น สถานการณ์ดังกล่าวจึงกระทบกับรายได้ของ AOT ในปีนี้ คาดว่าจะลดลงมากกว่าอัตราการลดลงของจำนวนผู้โดยสาร หรือมากกว่า 30-40% เพราะรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมสนามบิน (PSC) ของเส้นทางระหว่างประเทศ 700 บาท/คน ส่วนเส้นทางในประเทศเก็บที่อัตรา 100 บาท/คน

“ตั้งแต่ 26 มี.ค.ผู้โดยสารก็ลดลงมาเหลือระดับหมื่นคน/วัน พอ กพท.ประกาศปิด ผู้โดยสาร inter ก็ลดลงเหลือประมาณ 300-400 คน/วัน กระทบกับรายได้แน่นอน ดูจากการบริหารจัดการในประเทศ ก็คิดว่าพ.ค.ก็น่าจะจบได้หรือคุมโรคอยู่มอง Best Case แต่ในต่างประเทศเอาอยู่ไม่กี่ประเทศ ฉะนั้นเส้นทาง inter คิดว่าต้องรอมีวัคซีนออกมาก่อน ดังนั้น เส้นทางในประเทศคาดว่ากลางปีนี้น่าจะไปได้ เราก็หวังว่าสายการบินจะกลับมาบินได้เร็วสุด ในประเทศก็น่าจะบินได้ มิ.ย.นี้”

นายนิตินัย กล่าว

จากที่ประเมินว่าในปี 64 สถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ทั้งโลกน่าจะคลี่คลาย อย่างไรก็ตาม คาดว่าจำนวนผู้โดยสารของ AOT ยังไม่กลับมาปกติที่ 140 ล้านคน/ปี รวมถึง ตารางการบิน (slot) จะมีการจัดสรรกันอย่างไร จะเปิดประมูลใหม่หรือให้สิทธิกับรายเดิม ซึ่ง กพท.ก็ต้องวางหลักเกณฑ์ใหม่ เพราะสถานการณ์เช่นนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อีกทั้งต้องจัดสรรให้สอดคล้องกับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จากเดิมมีเกณฑ์ว่าหากไม่ได้ใช้ slot เกิน 20% ก็จะถูกตัดสิทธิ ซึ่งในภาวการณ์เช่นนี้ ทุกสายการบินไม่ได้ใช้ slot ที่มีอยู่อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ สถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลกระทบกับสายการบินและร้านค้าภายในพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสนามบินด้วย

นายนิตินัย กล่าวว่า ฝ่ายบริหารของ AOT จะนำเสนอให้คณะกรรมการบริษัทอนุมัติมาตรการเยียวยา ในวันที่ 22 เม.ย.นี้ โดยจะเสนอช่วยสายการบินด้วยการลดค่าธรรมเนียมการจอดและการขึ้น-ลงอากาศยาน 50% และยกเว้นค่าเช่าพื้นที่ภายในสนามบิน จากการปิดสนามบินชั่วคราว อาทิ ภูเก็ต โดยเฉพาะร้านค้าที่ต้องปิดชั่วคราว ส่วนร้านค้าที่ยังเปิดอยู่ให้ปรับลดค่าเช่าที่ลดลง 50%

พร้อมกันนั้น AOT ได้ปรับแผนงานที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจการบิน (NON-AERO) คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาสแรก ของงวดปี 63/64 หรือช่วง ต.ค.-ธ.ค.63 ที่ได้จากธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ (Cargo) โดยจะเสนอจัดตั้งบริษัทย่อยต่อคณะกรรมการบริษัทในวันที่ 22 เม.ย.นี้ด้วย

รวมทั้งการพัฒนาโครงการ Airport City ที่มีแปลง 37 ตั้งอยู่ภายในสนามบินสุวรรณภูมิคาดว่าการขยายระยะเวลาเช่าที่ราชพัสดุจากสิ้นสุดปี 75 เป็นสิ้นสุดในปี 95 และที่ดิน 723 ไร่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิได้ปรับโซนนิ่งตาม พ.ร.บ.ผังเมืองใหม่ที่ผ่านการประชาพิจารณ์แล้ว คาดว่าจะมีการกำหนดโซนนิ่งใหม่ในไม่ช้า หลังจากนั้นจะคัดเลือกเอกชนเข้ามาดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ดังกล่าว

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวถึงผลประกอบการของบริษัทว่า ในช่วงปี 58 ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง กำไรเติบโตทุบสถิติ และยังเติบโตดีถึงปี 61 แต่ในปี 62 กำไรทรงตัวมาที่ 2.5 หมื่นล้านบาทเนื่องจากสนามบินทุกแห่งใช้งานเต็ม Capacity ขยายไม่ได้ ดังนั้น ในช่วงปี 63-66 ที่อยู่ระหว่างลงทุนขยายสนามบินนั้นธุรกิจ Aero จะเติบโตไม่ได้มาก จึงวางแผนจะเน้นสร้างธุรกิจ Non-Aero ประกอบกับสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ทำให้บริษัทเร่งแผนทำรายได้ส่วนนี้ให้มากขึ้น

“โปรเจ็คต์ที่เกี่ยวกับ Non-Aero รายได้เข้ามาช่วงปลายปี 63 (ปีปฏิทิน) ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด เพราะไม่ได้เกี่ยวกับผู้โดยสาร โควิดไม่ได้ทำให้ AOT ในระยะยาวแย่ลง เพราะ S-Curve ลูกที่สอง (ปี 63-66) ก็กำลังทำ ซึ่งเป็นรอยต่อ S-Curve ลูกที่ 1 และ ลูกที่ 2 ซึ่งโควิดเข้ามาช่วงลูกที่ 2 ยังทำไม่เสร็จ ดังนั้น ด้าน Aero ไม่ต้องคิดถึงเรื่องพาณิชย์ ส่วนกำไรปีนี้ก็ขึ้นอยู่กับไตรมาสแรก ที่ผ่านมา (ตค.-ธ.ค.62)”

นายนิตินัย กล่าวกับ”อินโฟเควสท์”

ขณะเดียวกัน AOT ยังเดินหน้าโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มูลค่าเงินลงทุน 4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้วจึงเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่ออนุมัติโครงการ โดยโครงการนี้จะรองรับผู้โดยสารได้ 30-40 ล้านคน/ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 67-68

นอกจากนี้ ยังมีโครงการขยายท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3 มูลค่า 3.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 40 ล้านคน/ปี จากปัจจุบันรองรับได้ 30 ล้านคน/ปี อยู่ขั้นตอนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดแล้วเสร็จในปี 67-68 รวมทั้งการขยายสนามบิน ภูเก็ต 2 ที่เรื่องอยู่ระหว่างการจัดทำ EIA เช่นกัน ทั้งนี้การขยายสนามบินเป็นไปตามแผนที่เข้าสู่ S-Curves ลูกที่ 3 ในปี 67-68 ที่จะทำให้ AOT เติบโตต่อเนื่องในระยะยาว ขณะที่ปัจจุบัน AOT มีกระแสเงินสด 6 หมื่นล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 เม.ย. 63)

Tags: , , , , , , , , , , , , ,
Back to Top