AOT พุ่ง 6.02% โบรกฯแนะ ‘ทยอยซื้อ’ คาดปี 63/64 ผลงานฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ

หุ้น AOT ราคาพุ่งขึ้น 6.02% มาอยู่ที่ 57.25 บาท เพิ่มขึ้น 3.25 บาท มูลค่าซื้อขาย 1,271.31 ล้านบาท เมื่อเวลา 14.32 น. โดยเปิดตลาดที่ 55.75 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 57.50 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 55.50 บาท

บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯแนะ”ทยอยซื้อ”หุ้นบมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ปรับราคาพื้นฐานเป็น 59.25 บาท จากเดิมที่ 60 บาท จากมาตรการเข้มงวดทั้งในและต่างประเทศเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

รวมถึงมาตรการช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการในสนามบิน ซึ่งกระทบต่อผลการดำเนินงานของ AOT จึงปรับคาดการณ์รายได้ปี 62/63 (ต.ค.62-ก.ย.63) ลงเป็น 34,839 ล้านบาท บนคาดการณ์การผู้ใช้บริการและเที่ยวบินที่ลดลงเพิ่มขึ้นเป็น -44% และ -40% ตามลำดับ พร้อมลดคาดการณ์กำไรสุทธิลงเป็น 8,659 ล้านบาท จากเดิมที่ 13,590 ล้านบาท ลดลง 65.4% y-y

แต่ในปี 63/64 (ต.ค.63-ก.ย.64) คาดผลงานกลับมาฟื้นตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ มองสถานการณ์จะคลี่คลายดีขึ้น อีกทั้งเป็นบริษัทที่ศักยภาพในอนาคตจากแผนธุรกิจต่าง ๆ ที่จะดำเนินการ แม้ระยะสั้นอาจยังไม่มีปัจจัยหนุน

ทั้งนี้ คาดกำไรในไตรมาส 2 ปี 62/63 (ม.ค.-มี.ค.) ลดลง 57.2% y-y เหลือ 3,270 ล้านบาท จากการระบาดของ โควิด-19 ที่ส่งผลต่อการเดินทางให้ลดลงมาตั้งแต่เดือน ก.พ.และมาหนักในเดือน มี.ค. โดยเที่ยวบินใน 6 สนามบินที่ AOT บริหารลดลง18.5% y-y เหลือ 1.90 แสนเที่ยวบิน (ต่างประเทศ -25.3%, ในประเทศ -10.5%) และผู้ใช้บริการ -30.4% เป็น 27 ล้านคน (ต่างประเทศ -35.5%, ในประเทศ -22.7%)

ประกอบกับการช่วยเหลือผู้ประกอบการในสนามบินที่เริ่มเดือน ก.พ. โดยการลดผลประโยชน์ตอบแทน หรือการยกเลิกผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ (minimum guarantee) เป็นผลประโยชน์ตอบแทนอัตราร้อยละ (revenue sharing) ในอัตราที่ 15% และ 20% ซึ่งมีผลต่อรายได้จากสัมปทานทั้งพื้นที่เช่า ร้านค้า และ ดิวตี้ฟรีให้ลดลงตามผู้ใช้บริการ จึงคาดรายได้รวม -35.8% เป็น 11,000 ล้านบาท ในขณะที่การลดค่าใช้จ่ายยังทำได้ช้า ทั้งค่าจ้างภายนอก ค่าสาธารณูปโภค และค่าใช้จ่ายพนักงาน อีกทั้งคาดว่าจะมีขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นจากเงินบาทที่อ่อนค่าเทียบเงินเยน

ส่วนไตรมาส 3 ปี 62/63 (เม.ย.-มิ.ย.) คาดกระทบหนักสุดตามการเดินทางที่ลดลงมาก ซึ่งในช่วง 1-11 เม.ย. ผู้ใช้สนามบิน -98.1% (ต่างประเทศ -98.8%, ในประเทศ -97.1%) และเที่ยวบิน -92.1% (ต่างประเทศ -91.9%, ในประเทศ -92.3%) ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของ โควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น

จึงมีมาตรการต่าง ๆ ที่เข้มงวดมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เช่น ประเทศต่าง ๆ มีการ lockdown ส่งผลต่อการเดินทางระหว่างประเทศ, การเดินทางในประเทศที่มีการเข้มงวดและยกเลิกเทศกาลสงกรานต์, สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยประกาศห้ามเครื่องบินจากต่างประเทศเข้าประเทศไทยตั้งแต่ 3-15 เม.ย. และประกาศขยายไปถึง 30 เม.ย. รวมถึงสั่งปิดสนามบินภูเก็ตตั้งแต่ 10-30 เม.ย. ล้วนส่งผลให้สายการบินต่าง ๆ ลดเที่ยวบินลงอย่างมากหรือหยุดทำการบิน อีกทั้งมาตรการช่วยเหลือที่เริ่ม ก.พ. จะรับรู้ผล กระทบเต็มไตรมาส

นอกจากนี้ในวันที่ 22 เม.ย. ทางบอร์ด AOT จะมีการพิจารณามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม ได้แก่ 1)ธุรกิจที่เกี่ยวกับการบิน ได้แก่ สายการบินจะลดค่าขึ้น-ลงและค่าจอดเครื่องบิน (landing & parking fee) ให้ 50% และค่าเช่าพื้นที่ และ 2) ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการบินให้ยกเว้นค่าเช่าพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการที่ขอหยุดกิจการชั่วคราวและในสนามบินภูเก็ต หรือลดค่าเช่าพื้นที่ 50%

สำหรับผู้ประกอบการที่ยังดำเนินกิจการอยู่ ที่จะมีผลกระทบเข้ามาเพิ่มเติม โดยให้ติดตามแนวโน้มการระบาดของ โควิด-19 ถ้าดีขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่ผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ชะลอตัวลงชัดเจน รัฐอาจผ่อนปรนมาตรการที่จะนำไปสู่การกลับมาดำเนินงานได้บางส่วนในช่วงไตรมาส 4 ปี 62/63

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 เม.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top