ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 19 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันที่ 21 เม.ย. (11.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยอดสะสม 2,811 คน (+19)
  • รักษาหายแล้ว 2,108 คน (+109)
  • ยังรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 655 คน
  • เสียชีวิต 48 คน (+1)

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 19 คน ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยสะสมรวมทั้งสิ้น 2,811 คน จำนวนผู้ที่หายป่วยแล้วรวมทั้งสิ้น 2,108 คน กลับบ้านเพิ่มขึ้นอีก 109 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน รวม 48 คน ยังรักษาตัวอยู่ที่รพ. 655 ราย

ผู้เสียชีวิตเป็นชายไทยวัย 50 ปี อาชีพขับรถแท็กซี่ มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวานและควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี สูบบุหรี่ มีประวัติ รับส่งผู้โดยสารไปดูมวยที่สนามมวยลุมพินี โดยวันที่ 18 มี.ค.เริ่มป่วยด้วยอาการหายใจลำบากและมีไข้ต่ำ จากนั้นเข้า รพ.แห่งหนึ่งในกทม.ได้ยากลับไปทานที่บ้านแต่อาการไม่ดีขึ้นจึงเข้า รพ.อีกครั้งในวันที่ 23 มี.ค.ด้วยอาการไข้สูง 39.5 องศาฯ ปวดเมื่อย หายใจลำบาก เสมหะเพิ่มขึ้น ซึ่งผลตรวจยืนยันติดเชื้อโควิด-19 ต่อมาอาการค่อย ๆ แย่ลงจนกระทั่งเสียชีวิตลงในวันที่ 20 เม.ย.

ผู้ป่วยใหม่ทั้ง 19 คน มาจาก ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 10 ราย, ผู้ที่เดินทางไปยังสถานที่ชุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 2 ราย ผู้มีอาชีพเสี่ยง 1 ราย และพิธีกรรมทางศาสนา 1 ราย และอื่นๆ จากการค้นหาเชิงรุก 4 ราย และเป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และอยู่ใน State Quarantines 1 ราย

“ถึงแม้ตัวเลขจะต่ำกว่า 20 ครั้งแรก เข้าใจว่าเบาใจ แต่ยังวางใจไม่ได้ ตรงนี้ยังต้องขอความร่วมมือกันต่อไป เพราะสิงคโปร์เคยมีตัวเลขเพียง 4 ราย แต่วันนี้พบผู้ป่วยวันละเป็นพันราย…อยากขอความร่วมมือให้ช่วยกันต่อไปเพื่อลดตัวเลขผู้ป่วยให้ลดลงต่ำกว่า 10…หากเราดึงยอดให้ต่ำกว่า 10 เกิน 14 วันได้ เราก็จะเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่เราสามารถซีลประเทศของเราให้ปลอดภัยได้”

โฆษก ศบค.กล่าว

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่ดีขึ้นในขณะนี้เป็นผลจากช่วงเวลา 14 วันที่ผ่านมา และแนวทาง Work from Home ยังเป็นมาตรการที่รัฐยืนยันอยู่

โฆษก ศบค.กล่าวเพิ่มเติมว่า มีการถอดบทเรียนจากสถานการณ์ในประเทศสิงคโปร์แล้วพบว่าการแพร่เชื้อมาจากแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในหอพักเดียวกัน ดังนั้นจึงได้มีมาตรการดูแลกลุ่มแรงงานต่างด้าว โดยกระทรวงสาธารณสุข จะร่วมกับกระทรวงแรงงานเข้าไปดูแลแรงงานต่างด้าวเพิ่มเติมในมาตรการต่างๆ ของการป้องกันโรค และจะมีการแต่งตั้งอาสาสมัครสาธารณสุขคนต่างด้าว (อสต.) ซึ่งทำหน้าที่คล้ายๆ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) แล้วให้เข้าไปดูแลกลุ่มคนต่างด้าวด้วยกันเอง ซึ่งเป็นการทำงานเชิงรุกด้วยมาตรการป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อ

ส่วนการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถานและประกาศห้ามรวมกลุ่มชุมนุมหรือมั่วสุมในช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมานั้น เจ้าหน้าที่พบการกระทำผิด 672 ราย ได้แก่ ภาคเหนือ 79 ราย ภาคใต้ 112 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 126 ราย ภาคกลาง 299 ราย และ กรุงเทพ 56 ราย

ทั้งนี้รัฐบาลยังไม่มีการพิจารณายกเลิกมาตรการแต่จะมีการผ่อนปรน ซึ่งแต่ละประเทศใช้มาตรการแตกต่างกันไป โดยพื้นที่ที่ได้รับการผ่อนปรนจะพิจารณาดูจังหวัดที่มีความร่วมมือดี ผู้ติดเชื้อไม่เพิ่ม ฯลฯ โดยคำนึงถึงการให้ชีวิตอยู่ได้ก่อนแล้วเรื่องเศรษฐกิจและสังคมจะตามมา

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีการป้องกันเป็นอย่างดีและยังไม่มีรายงานการรับรักษาผู้ป่วย ประกอบด้วย กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี อ่างทอง และ สตูล

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 เม.ย. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top