KTB เผยกำไร Q1/63 หดรับปรับลดดอกเบี้ย NPL ทรงตัว สินเชื่อยังโต

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/63 ธนาคารมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร (งบการเงินก่อนสอบทาน) เท่ากับ 6,082 ล้านบาท ลดลง 16.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลง แม้ว่าสินเชื่อเติบโต 1.9% จากสิ้นปี หรือเติบโต 4.7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่ดี ประกอบกับการได้รับประโยชน์จากการปรับลดเงินสมทบกองทุนฟื้นฟู ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 4 ครั้ง และอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อทั้ง MLR MOR และ MRR เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าจากการแพร่ระบาดของโควด-19

ขณะเดียวกันการที่ไม่มีรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อจากการได้รับเงินบางส่วนในการขายทอดตลาดทรัพย์สินหลักประกันจำนองจำนวน 3,899 ล้านบาทในไตรมาส 1 ของปีที่ผ่านมา โดย NIM อยู่ที่ระดับ 3.17% อย่างไรก็ตามธนาคารมีค่าใช้จ่ายลดลง 16.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีค่าใช้จ่ายจากการขาดทุนของการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขาย ส่งผลให้ธนาคารมี Cost to Income ratio ที่ 44.2% ลดลงจาก 48.2% ในช่วงเดียวกันของปี 62

แม้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio-Gross) ในไตรมาส 1/63 จะอยู่ที่ 4.36% อยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิ้นปี 62 ซึ่งธนาคารพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆอย่างรอบคอบ ในการประมาณการถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและมีความไม่แน่นอน ที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อ จึงได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 8,524 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราส่วน Coverage Ratio ณ 31 มี.ค. 63 ที่ 126.5% ส่วนฐานะทางการเงินของธนาคารยังคงแข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง (งบการเงินเฉพาะธนาคาร) เท่ากับ 14.39% และ 18.16% ตามลำดับ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องไปทั่วโลกของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการดำเนินธุรกิจและทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง รัฐบาล กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนในทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน โดยธนาคารได้ตระหนักถึงภารกิจสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นกลไกของภาครัฐ โดยได้ออกหลากหลายมาตรการในการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ การให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 6 เดือน และดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ลูกค้าสามารถผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 เม.ย. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top