อนาคตหุ้นไทยปี 68 ขึ้นกับภาษี”ทรัมป์”ลุ้นพุ่งแตะ 1,250 หรือหลุด 1,000 จุด แนะ”หุ้นปันผล-Defensive”รับมือ

บลจ.อีสท์สปริง ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยปี 2568 ขึ้นอยู่กับผลเจรจาภาษีการค้ากับสหรัฐฯ เป็นสำคัญ ชี้หากถูกเก็บ 20% SET อาจวิ่งไปต่อ แต่ถ้าถูกซ้ำเติมด้วยภาษี 36% มีสิทธิหลุด 1,000 จุดถึง 940 จุด ส่วนกรณีดีที่สุดเก็บภาษีต่ำกว่า 20% และรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นชัดเจน SET มีโอกาสแตะ 1,250 จุด พร้อมแนะกลยุทธ์ลงทุนหุ้นปันผลสูงและกลุ่ม Defensive รับมือความไม่แน่นอน

นายบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนายการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.อีสท์สปริง กล่าวว่า สถานการณ์ภาษีการค้ากับสหรัฐฯ ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการภาษีที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ส.ค. นี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตต่ำกว่าศักยภาพที่ 1.8% ในปีนี้

3 ฉากทัศน์ SET ปี 2568

  • กรณีฐาน (Base Case): ไทยถูกเรียกเก็บภาษี 20% เท่าเวียดนาม และเศรษฐกิจไทยโต 1.5-2% เบิกจ่ายงบประมาณได้ แม้ Fund Flow ยังไหลออก คาด SET อยู่ที่ 1,040 – 1,200 จุด
  • กรณีเลวร้ายที่สุด (Worst Case): ไทยถูกเก็บภาษี 36% และงบประมาณล่าช้า คาด SET มีโอกาสหลุด 1,000 จุด หรือแกว่งในช่วง 940 – 1,040 จุด
  • กรณีดีที่สุด (Best Case): ไทยถูกเก็บภาษีน้อยกว่า 20% ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นชัดเจน เศรษฐกิจฟื้นตัว และ Fund Flow ไหลกลับ คาด SET พุ่งแตะ 1,200-1,250 จุด

นายบดินทร์ กล่าวว่า ยังต้องติดตามข้อสรุปภาษีว่าสุดท้ายไทยจะถูกเรียกเก็บเท่าไร รวมทั้งรายละเอียดเงื่อนไขดีลและเงื่อนไขสินค้า Transshipment ว่าไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีหรือไม่อย่างไร ซึ่งจากข่าวนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยถึงการเจรจาที่ไทยยื่นข้อเสนอกับสหรัฐดีกว่าเวียดนาม แม้จะไม่ได้ลดภาษีนำเข้าสินค้าให้สหรัฐฯ 0% ในทุกรายการเหมือนอินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งมีโอกาสที่จะถูกสหรัฐปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามยังมีเวลาในการเจรจาก่อนที่มาตรการภาษีจะถูกบังคับ 1 ส.ค. ซึ่งเชื่อว่าไทยพร้อมปรับเงื่อนไข เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุด

นอกจากนี้ยังต้องติดตามประเด็นการเมือง กรณีศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องคลิปเสียงการสนทนาของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร และสมเด็น ฮุนเซน และการพิจารณางบประมาณปี 69 ในช่วงเดือนส.ค. ซึ่งงบประมาณผ่านสภาได้ ไม่ล่าช้า จะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก ทั้งนี้ มองภาพระยะสั้นก่อนเดือนส.ค. ตลาดหุ้นไทยแกว่งไซด์เวย์ในกรอบ 1,200-1,225 จุด

นายบดินทร์ กล่าวว่า แม้สัปดาห์นี้ SET ขึ้นไปแรงเกือบ 100 จุด ตามความคาดหวังการเจรจาภาษีการค้าสหรัฐจะได้ดีลภาษีที่ลดน้อยกว่า 36% หากดีลเป็นไปตามคาดหวังตลาดก็มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ต่อ แต่ถ้าไม่เป็นไปตามคาดว่าอัตราภาษีจะลดมาอยู่ที่ 18-20% จะเกิด Sell on fact คาดว่า SET อาจลงไปที่ระดับประมาณ 1,040 – 1,050 จุด

สำหรับธีมการลงทุนหุ้นไทย ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยเติบโตช้ากว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น เนื่องจากความผันผวนจากสงครามการค้า แนะลงทุนหุ้นกลุ่มปันผล (Dividend) ซึ่งปัจจุบันอัตราจ่ายปันผลสูงขึ้นเป็น 7-8% ซึ่งหากมีปัจจัยกดดันเข้ามาเพิ่ม การมีหุ้นปันผลจะช่วยทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับโดนกระทบน้อยกว่า รวมทั้งหุ้นกลุ่ม Defensive อาทิ โรงพยาบาล เป็นกลุ่มที่น่าสนใจสำหรับกลยุทธ์หุ้นไทย

นางสาวดารบุษป์ ปภาพจน์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.อีสท์สปริง เปิดเผยมุมมองการลงทุนครึ่งปีหลัง 68 ว่า ความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศยังเป็นความเสี่ยงหลัก แม้ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียจะยังเป็นจุดหมายน่าสนใจสำหรับการกระจายการลงทุน ท่ามกลางภาวะตลาดโลกที่ผันผวน

นายยิ่งยง เจียรวุฑฒิ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายจัดการลงทุน บลจ.อีสท์สปริง กล่าวว่า แนวโน้มครึ่งปีหลังยังคงมุมมองเชิงบวกอย่างระมัดระวัง โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงเหลือโต 1.4% ในปี 68 และ 1.6% ในปี 69 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อน่าจะยังสูง ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คาดว่าจะเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยเมื่อเห็นอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น

ฝั่งของจีน จากที่สหรัฐฯมีการลดภาษีนำเข้าสินค้าจีนและมีการผ่อนผันระยะเวลาออกไป 90 วัน ทำให้อัตราภาษีเฉลี่ยลดลงเหลือราว 35% แต่ยังเป็นแรงกดดันต่อ GDP ประมาณ 1% ในปีนี้ แต่ก็คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตได้ราว 4.5% จากนโยบายการคลังและมาตรการกระตุ้นเฉพาะด้านที่คาดว่าจะออกมาเพิ่มเติมในช่วงต้นไตรมาส 4/68 ราคาหุ้นยังอยู่ในระดับน่าสนใจช่วยเปิดโอกาสลงทุนระยะยาว

อินเดีย กลายเป็นผู้รับผลประโยชน์สูงสุดในภูมิภาคเอเชียจากโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศ คาดว่าเศรษฐกิจอินเดียจะเติบโตที่ 6.4% ในปีนี้ และ 6.6% ในปีหน้า หากสามารถบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯได้เพิ่มเติมจะช่วยให้อินเดียเพิ่มเสน่ห์ในฐานะศูนย์กลางการผลิตของโลก แม้หุ้นอินเดียจะมีมูลค่าที่แพงกว่าหุ้นอื่นในเอเชีย แต่ก็ยังคงมีเสถียรภาพจากนโยบายการเงินที่เอื้ออำนวย รวมถึงได้รับอานิสงฆ์จากการย้ายฐานการผลิต(Reshoring)

ขณะที่ไทย คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ต่ำกว่าเพื่อนบ้าน คาดว่า GDP ราว 1.8% จากแรงกดดันด้านการค้า การลงทุนภาคเอกชนอ่อนแอ และความไม่แน่นอนทางการเมือง แม้ภาคการท่องเที่ยวจะชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจได้ ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ เปิดโอกาสให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยได้อีกหนึ่งครั้ง หากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่คาด แนะกลยุทธ์ลงทุนแบบเน้นหุ้นปันผลสูงเพื่อช่วยลดความผันผวนและสร้างผลตอบแทนที่มั่นคง

ด้านนายบดินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 68 นักลงทุนทั่วโลกยังเผชิญกับความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้า การเติบโตที่ชะลอตัวลงในเศรษฐกิจหลักและการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทิศทางดอกเบี้ยขาลง เราเชื่อว่ากลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลาย และสอดรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างพอร์ตการลงทุนที่แข็งแกร่งในระยะยาว โดยบลจ.อีสท์สปริง จึงแนะนำกรอบการลงทุน 5 ธีมหลัก เพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมมหภาคที่เปราะบาง ดังนี้

  1. D = Diversify Globally : กองทุนเปิดอีสท์สปริง Global Core (ES-GCORE) กองทุนหลักเน้นการกระจายความเสี่ยงทั่วโลก โดยลงทุนในหุ้นคุณภาพสูงจากตลาดพัฒนาแล้ว ด้วยพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง ผสมผสานการใช้ Big Data และโมเดลเชิงปริมาณเพื่อหาโอกาสจากการลงและเสริมความเสถียรของพอร์ต
  2. R = Resilient US Leaders : กองทุนเปิดอีสท์สปริง US Blue Chip Equity (ES-USBLUECHIP) กองทุนหลักเน้นลงทุนในบริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ที่มีความแข็งแกร่งทางการเงิน และศักยภาพการเติบโตระยะยาว ท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัว ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีความมั่นคงทางการเงินมากกว่าบริษัทขนาดเล็ก และสามารถรับมือกับวัฏจักรเศรษฐกิจได้ดีกว่า
  3. I = Income from Innovation : กองทุนเปิดอีสท์สปริง Nasdaq Equity Premium Income (ES-NDQPIN) ) กองทุนหลักมีการใช้กลยุทธ์ Covered Call ซึ่งเป็นการขายออปชั่นบนหุ้น NASDAQ-100 เพื่อสร้างกระแสรายได้อย่างสม่ำเสมอพร้อมรักษาการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยี เหมาะสำหรับผู้ต้องการผลตอบแทนสม่ำเสมอในภาวะตลาดผันผวน
  4. V = Value from Asia : กองทุนเปิดอีสท์สปริง Asian Low Volatility Equity (ES-ALOVE) ) กองทุนหลักเอเชียยังเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจในระยะยาว ด้วยศักยภาพด้านการผลิต โครงสร้างประชากร และนวัตกรรม กองทุนนี้คัดเลือกหุ้นพื้นฐานดีที่มีความผันผวนต่ำจากทั่วเอเชีย เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ
  5. E = Enhanced Bond Income : กองทุนเปิดอีสท์สปริง Global Income (ES-GINCOME) เมื่อธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงิน ตลาดตราสารหนี้กลับมาเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอีกครั้ง กองทุนหลักนี้ลงทุนเชิงรุกในพันธบัตรหลากหลายประเภททั่วโลก และหลายประเภทตราสารเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างรายได้และกระจายความเสี่ยงในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ค. 68)