คลัง เคาะแผนกู้เงินตาม พ.ร.ก. ประเดิมก้อนแรก 7 หมื่นลบ.ไว้แจก ‘เราไม่ทิ้งกัน’

  • กระทรวงการคลัง เคาะแผนกู้เงินตาม พ.ร.ก.แบ่งปีงบประมาณ 63 ที่ 6 แสนล้านบาท ปี 64 อีก 4 แสนล้านบาท
  • ประเดิมกู้เงิน 7 หมื่นล้านบาทใน พ.ค.จากแบงก์ในประเทศใช้แจกเยียวยา เราไม่ทิ้งกัน 5,000 บาท

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คนน.) ครั้งที่ 2/2563 ที่มีนายอุตตม สาวนายน รมว.คลังเป็นประธานว่า กระทรวงการคลังได้ปรับแผนก่อหนี้สาธารณะใหม่ หลังพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มีผลบังคับใช้ โดยปีงบประมาณ 2563 ช่วงที่เหลืออีก 6 เดือน คาดว่ารัฐบาลจะกู้เงินจาก พ.ร.ก. 6 แสนล้านบาท ส่วนอีก 4 แสนล้านบาทจะกู้ในปีงบประมาณ 64 แต่หากในปีงบประมาณนี้มีความต้องการใช้เงินมากกว่า 6 แสนล้านบาทก็สามารถปรับแผนเพิ่มเติมได้

จากแผนปรับปรุงก่อหนี้ดังกล่าว จะทำให้ปีงบประมาณ 2563 ในช่วงที่เหลืออีก 6 เดือน ต้องมีการกู้ใหม่ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 6.03 แสนล้านบาท จากแผนเดิมที่จะต้องมีการก่อหนี้ 8.94 แสนล้านบาท รวมเป็นเป็น 1.497 ล้านล้านบาท โดยในส่วนการกู้เงินตาม พ.ร.ก.นั้น สบน.จะทยอยกู้ตามความต้องการใช้เงิน จะมีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการก่อน และเสนอเข้า ครม. ขณะเดียวกัน สบน. จะเตรียมการกู้เงินไว้ให้ เมื่อผ่าน ครม. จะได้เบิกจ่ายเงินกู้ทันเวลา

สำหรับการกู้เงิน จะมีทั้งระยะสั้นและยาว โดยระยะสั้นมีทั้งเครื่องมือการกู้จากธนาคาร การกู้ระยะยาว (Term Loan) ตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) และตั๋วเงินคลัง รวมทั้งการออกพันธบัตรออมทรัพย์ขายให้รายย่อยประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งใช้เวลาเตรียมการ 1-2 เดือนก่อนเปิดขาย โดยอยู่ระหว่างพิจารณาว่ารูปแบบ เพราะเป็นวงเงินขนาดใหญ่กว่าปกติที่กำหนดไว้ในช่วงครึ่งปีราว 2-2.5 หมื่นล้านบาท

นางแพตริเซีย กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ ครม.เห็นชอบแผนการก่อหนี้ และคณะกรรมการการกลั่นกรองเห็นชอบแผนการใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินแล้ว หน่วยงานแรกที่จะใช้เงินทันที คือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะใช้เงินเยียวยารอบที่ 2 สำหรับแจกเงิน 5,000 บาทภายใต้มาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน”วงเงินก่อหนี้ 7 หมื่นล้านบาท โดยได้ออกจดหมายชี้ชวนถึงสถาบันการเงินให้เข้าร่วมประมูลให้กู้แล้ว และคาดว่า สบน.จะจัดเตรียมเงินพร้อมภายในวันที่ 5 พ.ค.เพื่อให้เบิกจ่ายเงินตามมาตรการ 5,000 บาทในกรอบ 14 ล้านคนได้ภายในวันที่ 8 พ.ค.นี้

โดยเงินก้อนแรก 7 หมื่นล้านจาก พ.ร.ก.กู้เงินนั้น จะเป็นการกู้จากธนาคารในประเทศ เปิดประมูลในวันที่ 29 เม.ย.เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินอายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นสำหรับการกู้ยืมเงินระหว่างธนาคารของตลาดกรุงเทพฯ หรือ BIBOR ปัจจุบันอยู่ที่ 0.97% บวก 5 ทศนิยม ส่วนการกู้เดือนต่อไปต้องพิจารณาจากปลายปัจจัย และมาตรการเยียวยาของภาครัฐ หากสรุปตัวเลขออกมาก็จะสามารถดำเนินการได้ตามความต้องการ

สำหรับการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ให้อำนาจกู้เงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่คงพิจารณาจากในประเทศเป็นหลัก โดยจะต้องวิเคราะห์ความคุ้มค่า คุ้มทุน และสภาพคล่องในประเทศด้วยเพื่อให้มั่นใจว่าการออก พ.ร.ก.ไม่ไปช็อคตลาดจนทำให้สภาพคล่องมีปัญหา เพราะธนาคารเองก็เตรียมความพร้อมในการดูแลลูกค้า แต่เบื้องต้นการกู้ในประเทศไม่ต่ำกว่า 80% ส่วนต่างประเทศราว 20% ต้องดูว่าอย่างไรจึงเหมาะสม ซึ่งขณะนี้มีองค์การระหว่างประเทศสนใจให้กู้หลายแห่ง ทั้งธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) แต่ทั้งต้องหารือกันก่อน

นางแพตริเซีย กล่าวว่า การกู้เงิน 1.497 ล้านล้านบาทในปีงบประมาณนี้จะส่งผลให้เพดานหนี้สาธารณะสิ้นปี 63 อยู่ที่ 51.84% และหากคำนวณ ณ สิ้นปี 64 จะอยู่ที่ 57.96% บนสมมุติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีหน้าที่ระดับ 3% แต่หากจีดีพีไม่ได้ 3% หนี้ก็อาจจะเพิ่ม ส่วนกรอบการก่อหนี้ 60% เป็นกรอบวินัยที่ดี แต่ไม่ใช่สิ่งต้องห้าม เพราะจริงๆ แล้วตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังให้ทบทวนทุก 3 ปี ปีหน้าจะถึงเวลาทบทวนต้องมาดูว่าสถานการณ์เศรษฐกิจเป็นอย่างไร

“วันนี้เป็นประเด็นที่เราต้องกู้มาช่วยประเทศ การที่หนี้จะโตหรือใกล้ทะลุไปนิดหน่อย ต้องมานั่งดูกันว่า ไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียขนาดนั้น ที่ผ่านมาเรามีวินัยเรื่องหนี้ดีมาก” นางแพตรีเซีย กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 เม.ย. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top