นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยกับ”อินโฟเควสท์”ว่า แม้ว่ายอดโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมยังคงมีเข้ามาบ้างในโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ในช่วง 2 ปีที่แล้ว แต่แนวโน้มยอดขายใหม่ส่งสัญญาณชะลอตัวตามภาวะกำลังซื้อซบเซาหลังจากได้รับผลกระทบเศรษฐกิจหดตัวจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อมั่นว่าคอนโดมิเนียมที่มีศักยภาพในพื้นที่ทำเลที่ดีและมีราคายุติธรรมยังได้รับความสนใจจากลูกค้าที่มีความต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง
สำหรับแนวโน้มตลาดคอนโดมิเนียมในครึ่งปีแรกเสี่ยงติดลบในอัตราสูง แต่ยังคาดหวังการฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลัง และตลอดทั้งปีนี้ตลาดคอนโดนิมเนียมมีโอกาสติดลบประมาณ 30% จากปีก่อนยอดโอนกรรมสิทธิ์ 9 แสนล้านบาทที่นับเป็นการเติบโตทำสถิติสูงสุดใหม่ เพราะมีกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าชาวไทยและชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างมากแม้ขณะนั้นจะมีปัจจัยลบประเด็นสงครามการค้าเข้ามาปกคลุมก็ตาม ดังนั้น หากวิกฤติโควิด-19 ผ่อนคลายพ้นจุดเลวร้ายไปแล้ว สะท้อนจากจำนวนผู้ติดเชื้อในไทยเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น เป็นเหตุผลให้รัฐบาลอาจตัดสินใจผ่อนปรนมาตรการ Lockdown ก่อนจะฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ นับเป็นปัจจัยสนับสนุนตลาดอสังหาฯกลับมาเติบโตได้ปกติอีกครั้ง
“เมื่อวงจรเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวตลาดอสังหาฯจะกลับมาก่อน เพราะเป็นปัจจัย 4 สิ่งที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต แต่วิกฤติโควิดรอบนี้เชื่อว่าผู้ประกอบการรายกลางรายเล็กคงมีบทเรียนมาบ้างจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ถ้ารายใดทำธุรกิจแบบพอดีตัวน่าจะประคับประคองธุรกิจได้อย่างน้อย 6 เดือน แต่ถ้าวิกฤติรอบนี้ลากยาวเป็นปีก็อาจเห็นความล่มสลายของผู้กอบการรายกลางรายเล็กกันเป็นจำนวนมาก”
ดร.อาภา กล่าว
นางอาภา เห็นด้วยกับมาตรการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่าน 3 พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยใช้วงเงินเกือบ 2 ล้านล้านบาททั้งมาตรการช่วยเหลือประชาชนระดับกลางและล่าง และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็กมาถึงขนาดใหญ่
ในส่วน พ.ร.ก.จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือกองทุน BSF วงเงิน 4 แสนล้านบาท ที่กำลังมีข้อถกเถียงกันอยู่นั้น โดยส่วนตัวเห็นว่าในภาวะวิกฤติเช่นนี้สมควรจัดตั้งกองทุนดังกล่าวเพื่อประคองปัญหาตั้งแต่ระดับจุลภาคมาถึงมหภาค โดยธุรกิจอสังหาฯที่ส่วนใหญ่ระดมทุนผ่านหุ้นกู้ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าการขายช่วงนี้มีความยากกว่าในภาวะปกติ ขณะที่กองทุน BSF รับซื้อหุ้นกู้ตามเงื่อนไขแค่บางส่วนเท่านั้นไม่ได้อุ้มไว้ทั้งหมด นั่นแปลว่าแต่ละบริษัทยังต้องจัดหาและบริหารสภาพคล่องด้วยตัวเองเป็นการจำกัดความเสี่ยง
แม้ว่ามีกระแสข่าวว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบอย่างหนักมีหนี้สินจำนวนมาก แต่ก็อยากชี้แจงว่าสถานการณ์วันนี้แต่ละบริษัทอสังหาฯในตลาดหลักทรัพย์ฯยังประคองธุรกิจได้ด้วยการคุมต้นทุนและมีแผนพร้อมมือกับวิกฤติครั้งนี้อยู่แล้ว
ด้านมุมมองฝ่ายวิจัยฯ ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) ระบุว่า จากผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่ซึมยาวจากปี62 ต่อเนื่องด้วยการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ปีนี้มียอดขายหยุดชะงักในช่วงไตรมาส 1/63 จากการทำกิจกรรมการขายได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะในช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาหลังจากที่การแพร่ระบาดของไวรัสในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะมีผลกระทบยาวถึงการตัดสินใจซื้อในช่วงไตรมาส 2/63 และการที่มีจำนวนซัพพลายคอนโดมิเนียมที่ยังเหลืออยู่มาก ทำให้ผู้ประกอบการในตลาดยังไม่เร่งการเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ทำให้การขายยังไม่กลับมาคึกคักมาก
ประเมินยอดขายที่อยู่อาศัยในปี 63 จะลดลงมาเหลืออยู่ที่ 62,297 ยูนิต หรือหดตัวลงเกือบ 38% จากปี 62 ที่สามารถขายไปได้ 99,860 ยูนิต ทำให้ยอดขายของที่อยู่อาศัยในปี 63 ถือว่าเป็นปีที่มียอดขายต่ำที่สุดจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 40 แต่ในส่วนของซัพพลายที่เหลือขายจะมีแนวโน้มลดลงมาเล็กน้อยเกือบ 3% ที่ 212,590 ยูนิต จากการที่ผู้ประกอบการต่างออกแคมเปญเพื่อกระตุ้นการระบายสต๊อกคงเหลือ และชะลอการเปิดโครงการใหม่ โดยเฉพาะการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมที่มีจำนวนลดลง
ด้านตลาดคอนโดมิเนียมยังเป็นตลาดที่เห็นการชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยคาดว่าจำนวนยูนิตคอนโดมิเนียมที่ขายได้จะลดลงราว 42% จากปี 62 มาอยู่ที่ 31,403 ยูนิต ซึ่งเป็นยอดขายที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีของตลาดคอนโดมิเนียม จากการชะลอการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดระดับราคาสูง โครงการขนาดใหญที่ต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนามากกว่า 5 ปี และกลุ่มคอนโดมิเนียมที่เน้นขายนักลงทุนและกลุ่มที่ขายลูกค้าต่างชาติ
ส่วนตลาดทาวน์เฮ้าส์ยังเป็นตลาดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะทาวน์เฮ้าส์ในพื้นที่ไม่เกินแนววงแหวนรอบนอก ในบริเวณที่อยู่ในรัศมีของการเข้าถึงรถไฟฟ้าใหม่ส่วนต่อขยายได้ยังมีความต้องการของผู้ซื้อสูง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยที่เข้ามาทดแทนการซื้อบ้านเดี่ยวและคอนโดที่ขยับราคาสูงขึ้นมาก แต่ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้คาดว่าจะมียอดขายทาวน์เฮาส์ในปีนี้จะลดลงราว 30% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 20,026 ยูนิต แต่ในภาพรวมถือว่าได้รับผลกระทบในแค่ระยะสั้นเท่านั้น เพราะทาวน์เฮ้าส์เป็นตลาดของลูกค้าที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยจริง
ทั้งนี้ มองภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์หลังผ่านพ้นวิกฤติไวรัสโควิด-19 มีโอกาสเกิดภาวะการปรับสู่จุดสมดุลมากขึ้น หลังจากตลาดในกลุ่มผู้ซื้อเก็งกำไรและลงทุน ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ในตลาดคอนโดมิเนียมหายไป และเห็นการกลับมาซื้อของกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจากความต้องการซื้อที่มากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดทาวน์เฮาส์ราคาไม่เกิน 4 ล้านบาท ซึ่งเป็นตลาดของผู้ที่มีกำลังซื้ออยู่ และเป็นตลาดหลักที่ผู้ประกอบการในตลาดให้ความสนใจ แต่อย่างไรก็ตามมองว่าการฟื้นตัวของตลาดอสังหารมิทรัพย์จะทยอยฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะในช่วงครึ่งปีแรกยังคงมีปัจจัยไวรัสโควิด-19 กระทบอยู่ แต่ต้องติดตามภาพของตาดที่จะสะท้อนความจริงออกมาอย่างต่อเนื่อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 เม.ย. 63)
Tags: คอนโดมิเนียม, ทาวน์เฮ้าส์, สมาคมอาคารชุดไทย, อสังหาริมทรัพย์, อาภา อรรถบูรณ์วงศ์, เศรษฐกิจไทย