ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 15 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยอดสะสม 2,854 คน (+15)
  • รักษาหายแล้ว 2,490 คน (+60)
  • ยังรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 314 คน
  • เสียชีวิต 50 คน (-)

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 15 คน ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยสะสมรวมทั้งสิ้น 2,854 คน จำนวนผู้ที่หายป่วยแล้วรวมทั้งสิ้น 2,490 คน กลับบ้านเพิ่มขึ้นอีก 60 คน ยังรักษาตัวในรพ.เพียง 314 ราย วันนี้ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่ม

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้น 15 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 11 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน/เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 9 ราย (กทม 4. ภูเก็ต 4 สงขลา 1) เป็นคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 1 ราย ไปสถานที่ชุมนุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 1 ราย คือที่ปทุมธานีไปตลาดบางปะอิน ปทุมธานี คลอง 1 ขณะที่การค้นหาเชิงรุกที่ จ.ยะลา พบ 4 ราย ซึ่งการค้นหาเชิงรุกเป็นมาตรการที่ทำในหลายจังหวัดเพื่อเรียกเคสเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ

“เราเรียกเคสเข้ามารับการตรวจในกลุ่มผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคนั้น กทม.หาผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ในการสอบสวนโรค 11,665 ราย ยะลา 4,448 ราย นนทบุรี 3,630 ราย ชลบุรี 1,879 ราย ภูเก็ต 2,163 ราย และสมุทรปราการ 1,302 ราย นี่คือสิ่งที่เราพยายามเปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุดว่าต้องมีการหาอย่างเชิงรุกมากๆ และจังหวัดเหล่านี้เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการจะสแกนหาคนที่มีอาการอยู่และเข้ามารับการรักษา ถ้าอยู่ในจังหวัดดังกล่าวไม่ว่าจะมีไข้ ไอ ประวัติเสี่ยง ให้เดินเข้ามายังสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อขอรับบริการในการตรวจได้เลย”

นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

สำหรับจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการตามนิยามเฝ้าระวังและผู้ป่วยยืนยันรายงานตั้งแต่ 1 มี.ค.-23 เม.ย. มีการเรียกบุคคลเข้ามาตรวจยืนยันเชื้อเพิ่มมากขึ้น แม้มีเพียงอาการแค่ไข้ หรือมีประวัติมีไข้ ไอ มีน้ำมูก วันละ 2 พันกว่าคน ทำให้เจอยืนยันเชื้อเพิ่ม ขณะที่ศักยภาพการตรวจยืนยันเชื้อ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ศักยภาพการตรวจของ กทม.ตรวจได้ถึง 10,000 ตัวอย่าง/วัน ต่างจังหวัด 10,000 ตัวอย่าง/วัน 835 ตัวอย่างต่อเขตสุขภาพ รวมแล้ว 20,000 ตัวอย่าง/วัน สถานที่ในการตรวจตอนนี้มี 123 แห่ง และเป้าหมายจะทำให้ได้ครบทุกจังหวัดให้ได้ ประมาณ 176 แห่งภายในระยะเวลาอันสั้น

“โรคนี้เป็นโรคใหม่เรารู้จักเพียงแค่ 3 เดือนเศษ สิ่งที่เราทำอย่างเต็มที่ตามศักยภาพที่เรามี แต่ก็มีการพัฒนาความรู้และระบบของเรา ต้องชื่นชมนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ทำให้ประเทศเรามีระบบควบคุมป้องกันและระบบ Screening ที่ดี”

ด้านมาตรการนำคนไทยตกค้างกลับประเทศไทย วันที่ 24 เม.ย. มีการกลับมาจากญี่ปุ่น 31 คน อินเดีย 171 คน เป็นพระภิกษุ 104 รูป แม่ชี ผู้ปฏิบัติธรรม วันที่ 25 เม.ย. จะมาจากอินเดียอีก 171 คน เป็นพระภิกษุ 122 รูป แม่ชี ผู้ปฏิบัติธรรม นอกจากนี้จะมาจากอิหร่าน 21 คน เป็นนักศึกษาและคนไทยที่ตกค้าง และอินเดีย 171 คน

“ถือเป็นอีกหน้าที่ที่เราต้องดูแลคนไทยกลับมา ตอนนี้ประชาชนในแต่ละประเทศถ้าจะกลับมาให้ติดต่อสถานทูตเพื่อจะได้ทราบตัวเลขชัดๆ และวางแผนในการดูแลได้”

สำหรับในด้านของความมั่นคง พบว่ามีการออกนอกเคหสถาน 482 ราย ลดลง 135 รายจากคืนวันก่อน มีการชุมนุมมั่วสุม 39 ราย ลดลง 67 ราย ขณะที่ตัวเลขการชุมนุมมั่วสุม 39 ราย เป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดเท่าที่เห็นมาใน 2 สัปดาห์นี้

ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลก หลายประเทศยังขยายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมออกไป อาทิ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ที่กรุงจาการ์ตา ขยายมาตรการจนถึง 22 พฤษภาคม 2563 หลังจากที่มีผู้ละเมิดกฏในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา, ประเทศยูเครน มีการขยายมาตรการล็อกดาวน์ไปจนถึง 11 พฤษภาคม 2563, สหราชอาณาจักร อาชใช้มาตรการคุมเข้มทางสังคมยาวตลอดทั้งปี หรือจนกว่าวัคซีนจะสำเร็จ เบื้องต้นได้ประกาศเพิ่มระยะเวลาล็อกดาวน์ไปจนถึง 7 พ.ค. และมีแนวโน้มและอาจขยายออกไปอีกหากสถานการณ์โดยรวมยังไม่ดีขึ้น

สหพันธรัฐมาเลเซีย ประกาศขยายเวลาเพิ่มเติมจากคำสั่งควบคุมการเคลื่อนไหวครั้งที่ 3 ที่จะสิ้นสุด 28 เม.ย.63 โดยจะออกคำสั่งควบคุมการเคลื่อนไหวครั้งที่ 4 ต่อไปอีก เพื่อให้ประชาชนเตรียมความพร้อมที่จะอยู่บ้านให้นานขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน

ดังนั้น ในส่วนของประเทศไทย คงไม่ได้แตกต่างไปจากนี้ เราไม่ใช่ประเทศเดียวที่ใช้มาตรการเข้มๆแบบนี้ เพราะเราต้องพยายามไม่ให้การ์ดของเราตก

โฆษก ศบค. กล่าวถึงปัจจัยและมาตรการใดที่ทำให้ประเทศไทยควบคุมการติดเชื้อที่มีประสิทธิภาพทั้งๆที่เมื่อเทียบมาตรการของไทยกับต่างประเทศคล้ายๆ กัน ว่า มาตรการของเรามีหลายส่วนประกอบกัน โดยเฉพาะการบอกเล่าให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจสถานการณ์มากขึ้นและเกิดความร่วมมือ ข้อ 2 คือ ระบบการบริหารจัดการ จากระดับสูงสุดระดับประเทศคือรัฐบาล ศบค. ลงไปถึงระดับจังหวัดซึ่งเป็นจุดปฏิบัติการที่เบ็ดเสร็จ สำเร็จและสามารถสั่งการไปถึงระดับบุคคลได้ รวมถึงประชาชนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อีกทั้งเรามีระบบสาธารณสุขที่ดีมากว่า 100 กว่าปีที่วางไว้ได้ผลดีมาก และดูแสุดตั้งแต่ระดับล่างสุดคือ อสม. 1 คนต่อ 10 ครัวเรือน

“ที่สำคัญที่สุดคือประชาชน 60 กว่าล้านคน ซึ่งเราต้องได้ 90-100% เราถึงจะประสบความสำเร็จในการควบคุมป้องกันโรค”

โฆษก ศบค. กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 เม.ย. 63)

Tags: , , ,
Back to Top