ดาวโจนส์ปิดบวก 260.01 จุด ขานรับผ่อนคลายล็อกดาวน์-เยียวยาธุรกิจ

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (24 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับรายงานข่าวที่ว่า บางรัฐของสหรัฐเตรียมที่จะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ชะลอตัวลง นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ลงนามในร่างกฎหมายมาตรการเยียวยาธุรกิจขนาดเล็กและโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 วงเงิน 4.84 แสนล้านดอลลาร์

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 23,775.27 จุด เพิ่มขึ้น 260.01 จุด หรือ +1.11%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,836.74 จุด เพิ่มขึ้น 38.94 จุด หรือ +1.39% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,634.52 จุด เพิ่มขึ้น 139.77 จุด หรือ +1.65%

แต่ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ลดลง 1.9%, ดัชนี S&P500 ติดลบ 1.3% และดัชนี Nasdaq ปรับตัวลง 0.2%

ตลาดหุ้นสหรัฐได้แรงหนุน เนื่องจากบรรดานักลงทุนขานรับข่าวที่ว่า รัฐจอร์เจียของสหรัฐเป็นรัฐแรกที่ผลักดันแผนผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยจะอนุญาตให้ธุรกิจขนาดเล็กเปิดทำการในวันศุกร์ (24 เม.ย.) แม้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพก็ตาม

ตลาดดีดตัวขึ้นรับข่าวปธน.ทรัมป์ลงนามบังคับใช้กฎหมายมาตรการเยียวยาธุรกิจขนาดเล็กและโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 วงเงิน 4.84 แสนล้านดอลลาร์ หลังจากที่วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอนุมัติร่างกฏหมายดังกล่าวก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐยังได้แรงหนุนจากการที่ราคาน้ำมันดิบสหรัฐฟื้นตัวขึ้น รวมถึงการที่หุ้นแอปเปิล และหุ้นไมโครซอฟท์ปรับตัวขึ้นด้วย

หุ้นแอปเปิล พุ่งขึ้น 2.89% และหุ้นไมโครซอฟท์ บวก 1.83% ก่อนที่สองบริษัทนี้จะรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะบ่งชี้ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างไรกับธุรกิจทั่วโลกของสองบริษัทนี้

แต่หุ้นโบอิ้ง ร่วงลง 6.36% หลังมีรายงานว่า โบอิ้งวางแผนที่จะลดการผลิตเครื่องบินรุ่น 787 Dreamliner ลงประมาณครึ่งหนึ่ง

หุ้นทุกกลุ่มของดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น โดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ พุ่ง 2.1% และหุ้นกลุ่มวัสดุ บวก 1.5%

สำหรับการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน, รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ดิ่งลง 14.4% ในเดือนมี.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 1.2% ในเดือนก.พ. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนจะร่วงลง 11.9% ในเดือนมี.ค. โดยการทรุดตัวของยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนในเดือนมี.ค.ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐานซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ และเป็นตัวบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนมี.ค. หลังจากลดลง 0.8% ในเดือนก.พ. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐานอาจร่วงลง 6.0% ในเดือนมี.ค.

ส่วนผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 71.8 ในเดือนเม.ย. จากระดับ 89.1 ในเดือนมี.ค. แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 67.0 โดยดัชนีความเชื่อมั่นร่วงลงเป็นเดือนที่ 3 แล้ว ท่ามกลางความกังวลกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 เม.ย. 63)

Tags: , , ,
Back to Top