TOP ตั้งงบลงทุน 5 ปี รวม 3,486 ล้านเหรียญฯ -น้ำมันดิ่งฉุดขาดทุน Q1/63

บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ตั้งงบลงทุนช่วง 5 ปี (63-67) เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 3,486 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project) 3,263 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นโครงการขยายกำลังการกลั่นเป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน และเพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่น โดยมีเป้าหมายแล้วเสร็จในไตรมาส 1/66

ส่วนเงินลงทุนที่เหลือ 223 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ใช้สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงหนว่ยผลิตต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ (Efficiency) ,ต่อเนื่อง (Reliability) และมีความยืดหยุ่น (Flexibility) ตลอดจนโครงการลงทุนทางด้านโลจิสติกส์และสาธารณูปโภค และการลงทุนอื่น ๆ เช่น โครงการ Digital Transformation โดยมีงบประมาณลงทุนเฉพาะในปี 63 รวมทั้งสิ้น 1,788 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1/63 ขาดทุนสุทธิ 13,754 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,984 ล้านบาท และลดลงจากกำไรสุทธิ 4,408 ล้านบาทในไตรมาส 1/62 หลังราคาน้ำมันดิบปรับลงแรงในช่วงสิ้นไตรมาส 1/63 เฉลี่ยที่ 33.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากราคาปิดสิ้นไตรมาส 4/62 ที่อยู่ระดับ 64.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้มีขาดทุนจากสต็อกน้ำมันสูงถึง 10,772 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/63 เทียบกับไตรมาส 4/62 กลุ่มไทยออยล์มีปริมาณวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตของกลุ่มลดลง และมีปริมาณการขายผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปลดลงจากไตรมาสก่อน โดยมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมันอยู่ที่ 2.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลง 2.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ส่งผลให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมกับน้ำมันดิบดูไบถูกกดดันอย่างหนัก หลังหลายประเทศทั่วโลกประกาศใช้มาตรการปิดเมืองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเบนซิน รวมถึงน้ำมันดีเซลในภาคอุตสาหรรมและภาคการขนส่งหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้ ความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานโลกได้อ่อนตัวลงจากการยกเลิกเที่ยวบินทั่วโลกเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ส่วนต่างราคาน้ำมันเตากำมะถันสูงกับราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 1/63 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/62 เนื่องจากอุปทานในภูมิภาคปรับตัวลดลงหลังโรงกลั่นน้ำมันหันไปผลิตน้ำมันเตาที่มีกำมะถันต่ำตามมาตรการป้องกันมลพิษทางเรือขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2563

ด้านตลาดสารอะโรเมติกส์ ส่วนต่างราคาสารพาราไซลีนและสารเบนซีนกับน้ำมันเบนซิน 95 ปรับตัวดีขึ้นจากอุปสงค์ก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนและอุปทานที่ตึงตัวจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงผลิตสารพาราไซลีนในประเทศจีน ประกอบกับราคาน้ำมันเบนซิน 95 ที่อ่อนตัวลงอย่างมากเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ส่วนต่างราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้านตลาดสารตั้งต้นสำหรับผลิตภัณฑ์สารทำความสะอาดได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากการปิดซ่อมบำรุงโรงผลิต LAB ที่ลดลงจากไตรมาสก่อน

ขณะที่ตลาดน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน และตลาดยางมะตอย ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นกัน ประกอบกับการนำเข้าจากประเทศจีนที่ลดลงในช่วงตรุษจีน และสภาพอากาศที่ยังคงหนาวเย็นทำให้ความต้องการใช้น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานความหนืดสูงลดลง

นอกจากนี้ การระบาดอย่างหนักของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะภาคการขนส่ง และการท่องเที่ยว ขณะที่อุปทานน้ำมันดิบยังคงล้นตลาด จากการไม่บรรลุข้อตกลงในการลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร ส่งผลให้ราคาปิดของน้ำมันดิบดูไบ ณ สิ้นไตรมาส 1/63 ปรับตัวลดลงจากราคาปิดณ สิ้นไตรมาส 4/62 ถึง 31.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทำให้กลุ่มไทยออยล์มีขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน 12.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือ 10,772 ล้านบาท

ขณะที่มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มรวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมันติดลบ 10.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลง 15.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เมื่อรวมขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงสุทธิ 19 ล้านบาท ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์มีผลขาดทุน EBITDA 12,248 ล้านบาท ลดลง 16,175 ล้านบาท โดยในไตรมาสนี้มีการบันทึกขาดทุนจากการวัดมูลค่ายุติธรรมเครื่องมือทางการเงิน ตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 จำนวน 377 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ 2,338 ล้านบาท (โดยเป็นขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิของสินทรัพย์และหนี้สินที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศจำนวน 1,772 ล้านบาท) เนื่องจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจาก ณ สิ้นไตรมาสก่อน ขณะที่มีต้นทุนทางการเงิน 1,105 ล้านบาท เมื่อหักค่าเสื่อมราคา และบวกการกลับรายการค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้แล้ว ทาให้ในไตรมาส 1/63 กลุ่มไทยออยล์มีขาดทุนสุทธิ 13,754 ล้านบาท หรือ 6.74 บาทต่อหุ้น เทียบกับกำไรสุทธิ 1,984 ล้านบาทในไตรมาส 4/62

เมื่อเทียบผลการดำเนินงาน ไตรมาส 1/63 กับไตรมาส 1/62 กลุ่มไทยออยล์มีรายได้จากการขายลดลง 14,974 ล้านบาท สาเหตุหลักจากราคาขายผลิตภัณฑ์และปริมาณการขายผลิตภัณฑ์รวมที่ปรับลดลง และมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมันลดลง 3.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เหตุผลหลักมาจากค่าการกลั่นที่ถูกกดดันอย่างหนักจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมกับน้ำมันดิบดูไบที่อ่อนตัวลงจากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และกำไรขั้นต้นจากกลุ่มอะโรเมติกส์ที่ลดลงจากภาวะอุปทานล้นตลาดที่เกิดจากการเปิดดำเนินการของโรงผลิตสารอะโรเมติกส์ในประเทศจีน

เมื่อรวมผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมันจากระดับราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างมากในไตรมาส 1/63 ทำให้มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มรวมผลกระทบจากสต็อกน้ามันลดลง 18.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เมื่อหักขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงสุทธิ ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์มี EBITDA ลดลง 19,137 ล้านบาท นอกจากนี้ เมื่อรวมขาดทุนจากการวัดมูลค่ายุติธรรมเครื่องมือทางการเงิน 377 ล้านบาท และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิที่เพิ่มขึ้น 2,990 ล้านบาท หักค่าเสื่อมราคา และบวกกลับรายการค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้แล้ว ในไตรมาส 1/63 กลุ่มไทยออยล์มีผลขาดทุนสุทธิ 13,754 ล้านบาท เทียบกับกำไรสุทธิ 4,408 ล้านบาท ในไตรมาส 1/62

TOP ระบุอีกว่า ธุรกิจการกลั่นในช่วงไตรมาส 2/63 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63 เนื่องจากสภาพอุปทานน้ำมันดิบที่ยังคงล้นตลาดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ซาอุดีอาระเบียคงนโยบายการลดราคาน้ำมันดิบที่ส่งออกมายังเอเชีย ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจการกลั่นได้รับประโยชน์จากต้นทุนน้ำมันดิบจริงที่ลดต่ำลงเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันดิบดูไบ ส่วนในช่วงครึ่งหลังปี 63 ธุรกิจการกลั่นมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 63 เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หลังคาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะบรรเทาลง

นอกจากนี้ ตลาดจะได้รับแรงหนุนจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกเพื่อส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำมันดีเซลสำหรับภาคอุตสาหกรรมและการขนส่งเพิ่มขึ้น ขณะที่ส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินกับน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หลังมาตรการปิดประเทศและจำกัดการเดินทางของหลายประเทศทั่วโลกคาดว่าจะสิ้นสุดลง เนื่องจากหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะควบคุมอัตราการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดีขึ้น

ตลาดสารพาราไซลีนในช่วงไตรมาส 2/63 คาดการณ์ว่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63 เนื่องจากราคาน้ำมันเบนซิน 95 ที่อ่อนตัวลงอย่างมากตามราคาน้ำมันดิบ ประกอบกับตลาดยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ในช่วงฤดูร้อนของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย ที่จะนำสารพาราไซลีนไปใช้ในอุตสาหกรรมปลายน้ำในการผลิตขวดน้ำดื่ม

อย่างไรก็ตาม อุปสงค์การบริโภคของผลิตภัณฑ์ปลายน้ำอย่างเสื้อผ้าในภูมิภาคเอเชียคาดว่ายังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับกำลังการผลิตของโรงผลิตสารพาราไซลีนในประเทศจีนที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้มีอุปทานออกมากดดันตลาดอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงครึ่งหลังของปี 63 คาดการณ์ว่าตลาดสารพาราไซลีนจะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 63 เนื่องจากราคาน้ำมันเบนซิน 95 ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น และอุปทานใหม่จากการเปิดดำเนินงานของโรงผลิตสารพาราไซลีนแห่งใหม่ในปี 62 ที่ดำเนินการอย่างราบรื่น รวมถึงโรงผลิตสารพาราไซลีนแห่งใหม่ที่คาดว่าจะเปิดดำเนินการในครึ่งหลังของปี 63 อีกประมาณ 2 ล้านตันในประเทศจีนและประเทศซาอุดีอาระเบีย

อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในภูมิภาคเอเชียคาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมเส้นใยและสิ่งทอฟื้นตัวได้ ประกอบกับมีการเปิดดำเนินการของโรงผลิตกรดเทเรพธาลิกบริสุทธิ์ในจีนที่มีกำลังการผลิตรวมกว่า 7.3 ล้านตันต่อปีในไตรมาส 4/63

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ค. 63)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top