PODCAST: Weekly Highlight “หุ้นไทย”พักฐานเพื่อไปต่อ ลุ้นเปิดห้างฯคลายล็อกเฟส 2

“Weekly Highlight” สัปดาห์นี้ (11-15 พ.ค.) เจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 11 พฤษภาคม 2563

เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (5-8 พ.ค.) SET INDEX ปรับตัวลดลงกว่า 2.7% จากสัปดาห์ก่อนเคลื่อนไหวต่ำกว่า 1,300 จุดอีกครั้ง โดยกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวลดลงมากสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม ลดลงมากที่สุด 7.7% รองลงมาคือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ลดลง 5.5% และสุดท้าย คือกลุ่มการแพทย์ ลดลง 5.4%

ปัจจุบันการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ทั่วโลก ไม่ได้เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งเหมือนกับในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศตัดสินใจผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์บางส่วน เพื่อหวังกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กลับมาเคลื่อนไหวได้อีกครั้ง สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลของไทย ที่อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในเฟส 2 เช่น ทดลองให้เปิดบริการห้างสรรพสินค้า เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามผลสรุปที่ชัดเจนในวันที่ 15 พ.ค. ที่จะมีการประชุมใหญ่ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.

เกาะติดกับสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก พบว่าขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่า 4.1 ล้านราย และมียอดผู้เสียชีวิตสะสมรวมกว่า 280,000 ราย

ขณะที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 รายงานสถานการณ์ในไทยเมื่อวันที่ 10 พ.ค.พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งสิ้น 5 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยสะสมรวมทั้งสิ้น 3,009 ราย ส่วนผู้ที่รักษาหายแล้วมีจำนวน 2,794 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตสะสมรวม 56 ราย

นอกเหนือจากปัจจัยลบการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่กำลังสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจทั่วโลกแล้ว ยังมีหนึ่งประเด็นสำคัญคือการปะทุของสงครามการค้าระลอกใหม่ ได้หวนกลับมากระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกอีกครั้ง ภายหลังจากที่นายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ขู่จะเรียกเก็บภาษีสินค้าจากจีน และอาจยกเลิกข้อตกลงเศรษฐกิจการค้าเฟสแรก โดยอ้างเหตุผลว่าประเทศจีนเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 นำมาสู่ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก ซึ่งหลังจากนี้คงต้องติดตามท่าทีการตอบโต้ของ 2 ประเทศมหาอำนาจ ว่าจะจุดชนวนความเสี่ยงซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกให้เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหนักในระยะถัดไปหรือไม่

ปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มหดตัวอย่างหนัก ตามข้อมูลของกระทรวงแรงงานสหรัฐ ได้รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ลดลงกว่า 20 ล้านตำแหน่งในช่วงเดือน เม.ย. นับเป็นตัวเลขการจ้างงานที่ย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันสหรัฐยังคงติดอันดับหนึ่งของประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19มากที่สุดในโลก

และด้วยเหตุผลดังกล่าว นักวิเคราะห์ต่างเฝ้าจับตาท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟดที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจ และโอกาสตัดสินใจเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการผ่อนคลายทางการเงินรูปแบบอื่นอีกหรือไม่ เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ หลังจากบรรดาผู้จัดการกองทุนและนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก ประเมินว่าเฟดจะยังไม่ใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ ล่าสุดเฟดคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.00-0.25% ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา

นายธวัชชัย อัศวพรไชย รองกรรมการผู้จัดการ บล.เอเอสแอล ประเมินภาพรวม SET INDEX ตลอดทั้งสัปดาห์ ยังมีทิศทางที่ผันผวน เพราะอยู่ในช่วงการประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกของบรรดาบริษัทจดทะเบียนไซด์บิ๊กแคป แต่เชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่ตอบรับกับปัจจัยลบแนวโน้มผลประกอบการที่ย่ำแย่ไปบ้างแล้ว เป็นอีกหนึ่งเหตุผลช่วยประคองดัชนีฯสามารถยืนเหนือแนวรับสำคัญที่ 1,250 จุด ก่อนจะมีโอกาสเด้งขึ้นไปทดสอบแนวต้านแรกที่ระดับ 1,270 จุด และถ้าสามารถทะลุผ่านไปได้ น่าจะเห็นแรงซื้อตาม ผลักดัน SET INDEX ไต่ระดับขึ้นไปทดสอบแนวต้านถัดไปที่ 1,286 จุดได้เช่นกัน

“เป็นไปได้ว่าดัชนีไม่น่าจะหลุด 1,250 จุด เพราะเราประเมินกรณีเลวร้ายโควิด-19 ในไทยจะเพิ่มขึ้นไปทำจุดสูงสุดเดือน ก.ค. แต่วันนี้ ศบค.ผ่อนปรนล็อกดาวน์เร็วกว่าที่คาด 3 เดือน เชื่อว่าหลังจากงบไตรมาส 1/63 ของบริษัทจดทะเบียนประกาศเสร็จสิ้น บรรยากาศลงทุนน่าจะเป็นไปในทิศทางเชิงบวกมากขึ้น”

นายธวัชชัย กล่าว

ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสำหรับสัปดาห์นี้ (11-15 พ.ค.) อยู่ที่ 32.00-32.40 บาท/ดอลลาร์ฯ ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ภายหลังการเปิดเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคานำเข้า/ส่งออก ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. ผลสำรวจกิจกรรมการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดอาจรอติดตามประเด็นทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือน เม.ย. ของจีนด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ค. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top