ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนหน้ากระเตื้องขึ้นอยู่ในเกณฑ์ ‘ทรงตัว’ หลังซบเซาต่อเนื่อง

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน พ.ค.63 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวหลังจากปรับตัวลงอยู่ในเกณฑ์ซบเซาติดต่อกันสามเดือน

ผลสำรวจพบว่านักลงทุนคาดหวังนโยบายภาครัฐเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศและการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว รวมถึงการค้นพบวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ และการไหลเข้า-ออกของเงินทุน รวมถึงความกังวลหากโควิด-19 เกิดการแพร่ระบาดรอบสอง

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ก.ค.63) อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (Neutral) (ช่วงค่าดัชนี 80 – 119) โดยเพิ่มขึ้น 42% มาอยู่ที่ระดับ 80.40

  • ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มนักลงทุนรายบุคคล บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)
  • ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ยังอยู่ใน Zone ซบเซา (Bearish)
  • หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD)
  • หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)
  • ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ นโยบายภาครัฐ
  • ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นจะ Sideway โดยภาพรวมมองว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยอยู่ในทิศทางขาขึ้น โดยยังคงต้องติดตามการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าจะมีการแพร่ระบาดครั้งที่ 2 หรือไม่ และหากเกิดขึ้นสถนการณ์จะเลวร้ายขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าจะไม่มากแล้ว เนื่องจากระบบสาธารณสุขของประเทศไทยค่อนข้างดี

นอกจากนี้ยังต้องติดตามว่าการใช้ชีวิต New Normal จะเป็นอย่างไร และจะกระทบในส่วนไหนบ้าง ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้กิจการไหนปิดตัวลงบ้าง ส่วนสุดท้ายคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ซึ่งหากมีความชัดเจนด้านต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ก็เชื่อว่าทิศทางดัชนีตลาดหุ้นไทยก็จะชัดเจนมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยหลังจากนี้จะไม่มีจุดต่ำสุดรุนแรงมากเหมือนกับช่วงที่ดัชนีปรับลดลงต่ำกว่า 1,000 จุดแล้ว โดยมองว่ามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ปัจจุบันที่ลดลง 3.2 ล้านล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามหากประเมินว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนจะลดลงราว 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน Market Cap ควรจะลดลงเพียง 3 แสนล้านบาท ส่งผลให้มองว่า downside risk ไม่มากแล้ว

“ปีนี้เรามอง upside ที่ราว 1,400 จุด แม้ว่าระดับ P/E จะอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำแล้วก็ตาม ซึ่งในประเทศอื่นๆ P/E ก็ไม่ต่ำเช่นกัน แต่ด้วยภาวะที่สภาพคล่องล้นไปทั่วโลก อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ การจะเข้ามาลงทุนก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่ต้องติดตามว่าตัวเลขการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วน 17% ของ GDP จะมีส่วนไหนมาทดแทน การใช้ชีวิตวิถีใหม่ และผลกระทบอื่น ๆ ออกมาชัดเจนก็จะมีทิศทางตลาดหุ้นที่ชัดเจนมากขึ้น” นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า FETCO ยังอยู่ระหว่างจัดทำแบบสอบถามไปยังบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ ผู้บริหารบริษัทจัดการลงทุน เพื่อรวบรวมความคิดเห็นถึงแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก่อนที่จะมีการประชุมของ FETCO หลังจากนั้นจะนำข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาและแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตลอดจนเรื่องอื่นๆ ให้กับกระทรวงการคลังได้พิจารณาต่อไปด้วย

ด้านนางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนพ.ค. 63 โดยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบเดือนพ.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 16 สูงขึ้นเล็กน้อยจากครั้งที่แล้วแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ “ลดลง (Decrease)” สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าการประชุม กนง. ในเดือนพ.ค. อาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากระดับ 0.75% จากปัจจัยหลักคืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มติดลบ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกที่ลดลง และ การไหลออกสุทธิของกระแสเงินลงทุนต่างชาติ

ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ในรอบการประชุม กนง. เดือนมิ.ย.63 (ประมาณ 10 สัปดาห์ข้างหน้า) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากครั้งที่แล้วมาอยู่ที่ระดับ 42 และ 39 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)” สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 5 ปี และ 10 ปีอาจไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากระดับ 0.7% และ 1.39% ตามลำดับ ณ วันที่ทำการสำรวจ (17 เม.ย. 63) โดยปัจจัยหนุนสำคัญคืออุปสงค์และอุปทานในตลาดตราสารหนี้เป็นหลัก รวมถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก และ Fund Flow ต่างชาติ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top