CPF คาดผลงานปี 63 ทำนิวไฮเล็งซื้อกิจการในสหรัฐหลังตุนกระแสเงินสดเพียบ

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสิรฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) เปิดเผยว่า แนวโน้มภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 63 คาดว่าจะทำสถิติสูงสุดใหม่ (New High) หลังจากผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 1/63 สามารถทำสถิติสูงสุดใหม่ และทำได้ดีกว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้ โดยมีกำไรสุทธิแตะ 6 พันล้านบาทภายในไตรมาสเดียว เมื่อเทียบกับระดับปกติที่จะมีกำไรไตรมาสละ 4 พันล้านบาท

ปัจจัยหนุนภาพรวมการเติบโตของปีนี้มาจากราคาเนื้อหมูและเนื้อไก่ที่ดีขึ้น โดยราคาเนื้อหมูปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจากผลของโรคระบาด ASF (Afican Swine Flu) ที่เกิดขึ้นในจีน เวียดนาม และกัมพูชา ทำให้ซัพพลายเนื้อหมูลดลงอย่างมาก ซึ่งหมูในฟาร์มติดเชื้อและตายไปกว่า 20 ล้านตัว ในขณะที่ดีมานด์ยังมีอยู่เท่าเดิม ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 70,000 ดอง จากเดิมที่ 46,000-47,000 ดอง

บริษัทยังมองว่าหากยังไม่มีวัคซีนรักษาโรค ASF ที่เกิดขึ้นกับหมูได้ภายในปีนี้ แนวโน้มราคาเนื้อหมูจะยังคงขยับเพิ่มขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง เพราะซัพพลายจะหายไปจากตลาดค่อนข้างมาก และผู้เลี้ยงรายย่อยไม่กล้าเข้ามาลงทุนเพิ่ม เพราะมีความเสี่ยงสูง เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีระบบการป้องกันที่ดีกว่า จึงเชื่อว่าซัพพลายเนื้อหมูจะยังไม่กลับมาเท่าเดิมเหมือนกับช่วงก่อนเกิดโรค ASF

ส่วนราคาเนื้อไก่เริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/63 หลังจากที่มีการปิดโรงงานผลิตเนื้อไก่หลายแห่งในช่วงไตรมาส 1/63 เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาเนื้อไก่ฟื้นตัวขึ้นจากช่วงต้นปีที่ราคาตกต่ำ

นอกจากนี้ ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ในปี 63 มีแนวโน้มลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะราคาข้าวโพดที่ปัจจุบันลดลงมาเหลือ 8.80 บาท/กิโลกรัม จากเดิมที่ 10 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากปริมาณซัพพลายใน 2 ประเทศใหญ่ คือ สหรัฐฯ และบราซิล ออกมาเป็นจำนวนมาก หลังจากโรงเชือดหมูและไก่ในสหรัฐฯและบราซิลปิดตัวไปมากจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มระบาดรุนแรงขึ้น ในขณะที่ภาคการเกษตรยังทำงานตามปกติ ทำให้ซัพพลายล้นตลาด ส่งผลบวกให้ราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ลดลง

ดังนั้น จึงคาดว่าผลการดำเนินงานในปีนี้จะเติบโตขึ้นอย่างโดดเด่น และจาก 3 ปัจจัยหลักที่เป็นปัจจัยสนับสนุนส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้ทำNew High ได้

“จากผลการดำเนินงานไตรมาสแรกที่ออกมาทำนิวไฮในประวัติศาสตร์ ทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่าผลการดำเนินงานทั้งปีนี้มีโอกาสจะทำนิวไฮได้ ทำให้แผนที่ตั้งเป้ายอดขายโต 8-10% ในปีนี้ค่อนข้างมั่นใจทำได้ และมองว่าไม่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมาย 5 ปี (62-66) ที่ตั้งเป้ารายได้ 8 แสนล้านบาท

ส่วนผลงานไตรมาส 2/63 มองว่าอาจจะชะลอตัวลงจากไตรมาส 1/63 เพราะรับผลกระทบของการล็อกดาวน์ในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ในเดือนพ.ค.ก็เริ่มกลับมาดีขึ้นบ้าง ซึ่งหากเทียบกับไตรมาส 2 ปีก่อนเราก็ยังมองว่าดีกว่าแน่นอน แต่เราก็หวังอย่าให้เกิดการระบาดโควิด-19 รอบ 2 ในประเทศเกิดขึ้นหลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงไปมากแล้ว”

นายประสิทธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้บริษัทต้องมีการชะลอแผนการลงทุนที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน เพื่อรอดูเหตุการณ์ให้ชัดเจนอีกครั้ง โดยปรับลดงบลงทุนในปีนี้ลงมาเหลือต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้ 2.5 หมื่นล้านบาท หลังจากบริษัทใช้งบลงทุนในไตรมาส 1/63 ไปเพียง 6 พันล้านบาท ทำให้แนวโน้มการใช้งบลงทุนในปีนี้จะลดลงอย่างแน่นอน และบางส่วนจะนำไปใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและลงทุนด้านดิจิทัลแทน เพื่อเพิ่มความสามารถให้กับโรงงานของบริษัท

แต่บริษัทด็ยังมองหาโอกาสใหม่ในการลงทุนที่สามารถต่อยอดธุรกิจที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดยอยู่ระหว่างการศึกษาการเข้าซื้อกิจการโรงงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์เนื้อหมูทางตอนเหนือของสหรัฐฯ เพื่อต่อยอดโรงงานเนื้อหมูในแคนาดาที่บริษัทได้ซื้อเข้ามาก่อนหน้านี้ และเริ่มมีรับรู้กำไรเข้ามาแล้วตั้งแต่ไตรมาส 1/63

“บริษัทมองว่าการเข้าซื้อโรงงานเนื้อหมูในสหรัฐฯตอนเหนือจะช่วยเป็นการต่อยอดจากโรงงานในแคนาดาและเป็นฐานการส่งออกไปยังประเทศจีนเพิ่มเติมได้ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนในดีลนี้”

นายประสิทธิ์ กล่าว

นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังความสามารถในการลงทุน เพราะปัจจุบันมีกระแสเงินสดในมือสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 7.9 หมื่นล้านบาท และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกหากผลการดำเนินงานยังดีต่อเนื่อง พร้อมกันนั้นยังมีแผนนำกระแสเงินสดไปบริหารจัดการหนี้สินให้ต้นทุนดอกเบี้ยลดลง ซึ่งขณะนี้ต้นทุนดอกเบี้ยลดลงมาเหลือ 3.5% จากเดิม 3.9% และยังออกหุ้นกู้เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอน โดยจะเสนอขายในช่วงต้นเดือน มิ.ย. 63 เป็นหุ้นกู้อายุ 4-15 ปี อัตราดอกเบี้ย 3-4% วงเงินราว 1 หมื่นล้านบาท

ส่วนดีลการซื้อดีลการซื้อกิจการเทสโก้ เอเชีย ในไทยและมาเลเซีย ของกลุ่มซีพี โดย CPF ทำดีลผ่านบริษัทลูกที่ถือหุ้นในบริษัทโฮลดิ้งที่เข้าซื้อในสัดส่วน 20% หรือคิดเป็นเงินลงทุน 4.8 หมื่นล้านบาท บริษัทคาดว่าดีลดังกล่าวจะเสร็จสิ้นในปี 63 แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (OTCC) ของไทยและมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้ส่งข้อมูลให้กับ OTCC ทั้งไทยและมาเลเซียพิจารณาแล้ว แต่หากการพิจารณามีความล่าช้าอาจส่งผลต่อระยะเวลาปิดดีลต้องเลื่อนออกไปเป็นปี 64

นายประสิทธิ์ ยังกล่าวเสริมว่า ตามแผนระยะ 5 ปี (ปี 62-66) บริษัทเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินทรัพย์ของบริษัท พร้อมกับการขยายสัดส่วนยอดขายในต่างประเทศให้เพิ่มเป็น 75% จากปัจจุบันที่ 67% เพื่อตอกย้ำวิสัยทัศน์”ครัวของโลก” ที่บริษัทได้ตั้งเป้าหมายไว้ โดยปัจจุบันบริษัทมีโรงงานและสำนักงานใน 17 ประเทศ และส่งออกสินค้าไปจำหน่ายมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก สัดส่วนรายได้หลักกว่า 76% ของรายได้รวมจะมาจากการขายสินค้าในประเทศไทย เวียดนาม และจีน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ค. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top