คาดกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 31.90-32.25 ต่อดอลล์ จับตาหลายประเทศคลายล็อก

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.90-32.25 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 32.07 บาท/ดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 1.31 หมื่นล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 6.0 พันล้านบาท

ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบทุกสกุลเงินสำคัญ หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวสุนทรพจน์ที่สถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ Peterson โดยประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบรุนแรงจากไวรัสโควิด-19 แต่ปฏิเสธที่จะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ และระบุว่าเฟดสนับสนุนทางเลือกอื่นๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า อาทิ การส่งสัญญาณชี้นำทิศทางนโยบายการเงิน (Forward Guidance) และโครงการซื้อสินทรัพย์จำนวนมาก (QE)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทั่วโลกและความเสี่ยงต่อการเกิดการแพร่ระบาดระลอกสองของโควิด-19, ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

นอกจากนี้ ตลาดจะยังคงประเมินทิศทางกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟด โดยล่าสุดประธานเฟดได้ให้สัมภาษณ์กับรายการโทรทัศน์ว่าอัตราการว่างงานอาจแตะระดับ 25% ก่อนที่จะลดลงในช่วงครึ่งปีหลังและเศรษฐกิจอาจหดตัว 20% ในไตรมาสที่ 2 ขณะที่เฟดยังไม่หมดกระสุนและพร้อมที่จะขยายมาตรการที่มีอยู่เดิมหรือเพิ่มมาตรการใหม่ๆ

เราคาดว่าท่าทีเช่นนี้อาจช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงช่วงต้นสัปดาห์ แต่ประเด็นความไม่แน่นอนข้างต้นโดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งรอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะยังคงส่งผลให้การลงทุนเป็นไปอย่างระมัดระวัง ส่วนเงินบาทอาจผันผวนตามราคาทองคำที่เคลื่อนไหวใกล้ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 8 ปี

สำหรับปัจจัยในประเทศ สภาพัฒน์ฯ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาส 1 หดตัว 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและหดตัว 2.2% เทียบรายไตรมาส ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ สภาพัฒน์ฯ ประเมินว่าจีดีพีปี 2563 จะหดตัว 5.0-6.0% และมูลค่าส่งออกลดลง 8.0% ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 20 พ.ค.คาดว่าจะมีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 0.75% สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ที่ 0.50% เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ขณะที่นโยบายการเงินที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยและมาตรการด้านการคลังจะมีบทบาทมากขึ้นในระยะถัดไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top