เปิดรายชื่อพรรคการเมืองกู้เงินเหมือน ‘อนาคตใหม่’ จี้ กกต.จัดการให้เท่าเทียม

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า จากเอกสารงบการเงิน ลงวันที่ 31 ธ.ค.61 ที่พรรคการเมืองทุกพรรคนำส่ง กกต.ภายในเดือน พ.ค.62 พบว่ามีพรรคการเมืองถึง 18 พรรคที่ปรากฏรายการเงินกู้ในเอกสารงบการเงิน ได้แก่

  1. พรรคพลังศรัทธา มีรายการเงินกู้ระยะสั้น 300,000 บาท
  2. พรรคพลังชาติไทย เงินกู้ระยะสั้น 113,988 บาท
  3. พรรคไทยธรรม เงินกู้จากหัวหน้าพรรค 1,000 บาท
  4. พรรครวมพลังประชาชาติไทย เงินกู้จากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกัน 5,000,000 บาท
  5. พรรครวมใจไทย เงินกู้ยืมระยะสั้น 45,697.86 บาท
  6. พรรคอนาคตใหม่ เงินกู้จากหัวหน้าพรรค 161,200,000 บาท
  7. พรรคเพื่อสหกรณ์ไทย เงินกู้ยืมระยะสั้น 226,000 บาท
  8. พรรคพลังไทยรักชาติ เงินกู้ยืมหัวหน้าพรรค 85,000 บาท
  9. พรรคเมืองไทยของเรา เงินกู้ยืมระยะสั้น 542,750 บาท
  10. พรรคเพื่อชีวิตใหม่ เงินกู้ยืมระยะยาว 50,000 บาท
  11. พรรคเงินเดือนประชาชน เงินกู้ยืมจากกรรมการ 822,183.70 บาท
  12. พรรคไทรักธรรม เงินกู้ยืม กรรมการบริหารพรรค 4,376,000 บาท
  13. พรรคพลังประชาธิปไตย เงินยืมจากหัวหน้าพรรค 5,584,290 บาท
  14. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน เงินกู้ยืม 542,125 บาท
  15. พรรคพลังท้องถิ่นไท เงินกู้ยืมระยะสั้น 1,427,000 บาท
  16. พรรคไทยรักษาชาติ เงินยืมจากหัวหน้าพรรค คณะกรรมการบริหารพรรค 1,738,868.92 บาท
  17. พรรคประชาธิปไตยใหม่ เงินกู้ยืมระยะสั้น 4,216,600 บาท
  18. พรรคชาติพัฒนา เงินกู้ยืม 2,000,000 บาท

นายสมชัย กล่าวว่า ทั้งหมดนี้ถือเป็นความปรากฏที่นายทะเบียนต้องรับรู้ และหากพบว่าเป็นความผิดต้องชงเรื่องต่อ กกต.เพื่อมีมติดำเนินการ โดยเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ คือเหตุการณ์แรกมีพรรคการเมืองอย่างน้อย 4 พรรคกู้เงินปรากฏในเอกสารงบการเงินปี 56 และเหตุการณ์ที่มีอีก 17 พรรคปรากฏในเอกสารงบการเงินปี 61 นั้น มีนายทะเบียนพรรคการเมืองคนละคน

หากการกู้ทั้ง 2 เหตุการณ์เป็นความผิด และมีการปล่อยปละละเลย นายทะเบียนต้องรับผิดชอบเป็นอันดับแรก และ กกต.อาจต้องร่วมรับผิดในฐานะไม่กำกับดูแลงานให้เป็นไปอย่างถูกต้องด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่หากบอกว่าไม่ผิด กรณีชงเรื่องเงินกู้พรรคอนาคตใหม่ ก็จะถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่อันมิชอบของนายทะเบียนพรรคการเมือง และ กกต.5 ใน 7 คนที่ลงมติส่งฟ้องยุบพรรคอนาคตใหม่ต่อศาลรัฐธรรมนูญ คงต้องรับผิดชอบต่อมติที่ตนเองลงด้วย

“หากจะยึดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองใหม่ แล้วบอกว่าพรรคการเมืองไม่สามารถกู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้ในกิจกรรมทางการเมืองได้ตามตรรกะการลงมติของ กกต.ชุดปัจจุบัน พรรคไหนกู้ ถือว่าผิดกฎหมาย ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค ต้องตัดสิทธิการเมือง ต้องโทษอาญาจำคุก ไม่ว่าจะกู้ 1,000 บาท 1 ล้าน หรือ กู้ 100 ล้าน แปลว่า กู้เหมือนกัน เหมือนลอกข้อสอบจะข้อเดียวหรือสิบข้อ จับได้ก็ต้องปรับตก ไม่มีข้อยกเว้น” นายสมชัย ระบุ

นายสมชัย กล่าวว่า เอกสารที่นำส่ง กกต.มีทั้งหมด 609 หน้า โดยนายจรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.เป็นผู้เซ็นรับรองในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เท่ากับว่ารู้เรื่องมาตั้งแต่เดือน พ.ค.แล้วว่ามีถึง 18 พรรคการเมืองที่มีการกู้ยืมเงิน ซึ่งนายทะเบียนต้องนำข้อมูลทั้งหมดนำเสนอต่อ กกต.เพื่อให้มีมติอย่างใดอย่างหนึ่งว่าผิดหรือไม่ผิด หากบอกว่าผิดจะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ดำเนินการยุบพรรคเช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่วนที่ดำเนินการล่าช้า กกต.ต้องไปกำกับนายทะเบียนพรรคการเมืองเอาเอง

ส่วนจะเข้าข่ายว่า กกต.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า ขอให้ข้อมูลแต่เพียงเท่านี้ก่อน ไม่ขอชี้นำในประเด็นนี้ แต่ย้ำว่าเป็นหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ต้องรายงานต่อที่ประชุม กกต. หากถือว่าเงินกู้เป็นรายการที่เข้าข่ายผลประโยชน์อื่นใดซึ่งได้มาโดยไม่ชอบ โดยเอาหลักเกณฑ์มาตรา 72 ของกฎหมายพรรคการเมืองมาเป็นตัวตั้ง

นายสมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจาก 18 พรรคการเมืองที่ระบุว่ามีเงินกู้แล้ว ยังมีอีก 17 พรรคการเมืองที่ระบุว่าเป็นเงินยืม ซึ่งเทียบแล้วถือว่าเงินยืมผิดมากกว่า เพราะเงินกู้มีสัญญา มีดอกเบี้ย มีการใช้คืนตามกำหนด แต่เงินยืมบางพรรควงเงินสูงถึง 30 ล้านบาท โดยไม่มีดอกเบี้ยและไม่มีกำหนดใช้คืน หากมองว่าเป็นการครอบงำพรรคการเมืองโดยบุคคล ประเด็นเงินยืมก็ถือเป็นประเด็นที่สำคัญ

และหลังจากนี้จะออกมาเปิดเผยข้อมูลต่อไปว่ามีพรรคการเมืองใดบ้าง หลังจากได้ความชัดเจนจาก กกต. กรณีเงินกู้แล้ว แต่ไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเสรีรวมไทย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ม.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top