คมนาคม คาด ‘การบินไทย’ ใช้เวลา 1 ปีออกจากแผนฟื้นฟู มั่นใจแนวทางนี้ดีสุด

เตรียมรายชื่อผู้บริหารแผนให้นายกฯ คัดเลือก

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมเห็นว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาของบมจ.การบินไทย (THAI) โดยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาลทันที เป็นแนวทางที่ดีที่สุด โดยพิจารณาถึงประโยชน์ที่ THAI จะได้รับ

โดยก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาล กระทรวงคมนาคมเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐต่ำให้กว่า 50% เพื่อให้พ้นสถานะการเป็นรัฐวิสาหกิจ และพ้นจากข้อจำกัดของ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ที่เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูให้สำเร็จ และพ้นจากข้อจำกัดของพ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 เพื่อให้สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทแลผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขปัญหาได้

อนึ่ง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ได้มีมติเห็นชอบให้ THAI เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา และให้ THAI หลุดพ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยกระทรวงการคลังจะลดสัดส่วนการถือหุ้นให้เหลือต่ำกว่า 50% จากปัจจุบันที่ถือหุ้นอยู่ 51%

รมว.คมนาคม กล่าวว่า ณ สิ้นปี 62 THAI มีหนี้สิน 1.4 แสนล้านบาท และคาดว่าในปี 63 จะมีหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2 แสนล้านบาท โดยมีหนี้สินต่างประเทศ 35% ซึ่งฐานะของ THAI อยู่ในขั้นวิกฤต จากข้อมูลนี้ ชัดเจนว่าการบินไทยมีหนี้สินล้นพ้นตัว

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ครม. ได้เลือกทางเลือกที่ 3 ที่ให้ THAI เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาล จากเดิมกระทรวงการคลังจะเข้าไปช่วยเหลือเพิ่มสภาพคล่อง โดยเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ 5.4 หมื่นล้านบาท และเพิ่มทุน 8 หมื่นล้านบาท แต่กระทรวงคมนาคมเห็นว่ามีความเสี่ยง 23 เรื่อง จึงไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้เพราะจะเสียเงินสูญเปล่า เพราะหากไม่สามารถฟื้นฟูได้ตามแผนก็ต้องใส่เงินเข้าไปอีก

ขณะที่มีทางเลือกที่ 2 ที่ปล่อย THAI ล้มละลาย ทรัพย์สินจะถูกควบคุมและอายัดนำมาขายทอดตลาด พนักงานถูกลอยแพ มีผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า หลังจากครม.มีมติดังกล่าวแล้ว THAI จะจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางทั้งศาลไทยและสหรัฐ โดยขั้นตอนนี้ อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้จัดทำแผนและผู้บริหารแผน ซึ่งกระทรวงคมนาคมคาดว่าจะนำรายชื่อไม่ต่ำกว่า 15 ราย เสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีตัดสินใจคัดเลือกภายในในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ อาจจะมีผู้บริหารแผนให้ครอบคลุมทุกธุรกิจ อาทิ ครัวการบิน และฝ่ายช่าง เป็นต้น โดยขณะนี้มีรายชื่อในใจหลายคนแล้ว นอกจากนี้ THAI จะต้องแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินและที่ปรึกษาด้านกฎหมายด้วย

ส่วนผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารแผน จะต้องมีความเป็นมืออาชีพ เป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับ และเป็นบุคคลที่ทำหน้าที่ปลอดการเมือง

สำหรับขั้นตอนต่อไปที่จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลนั้น รมว.คมนาคม กล่าวว่า จะดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลให้เร็วที่สุด เมื่อศาลรับคำร้องแผนฟื้นฟู THAI จะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 90/12 หรือสภาวะพักหนี้ (Automatic Stay) นอกจากนี้ จะตั้งคณะทำงานเจรจาเจ้าหนี้และลูกหนี้ด้วยทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่า THAI จะมีโอกาสกลับมาแข็งแรงได้อีกครั้ง

โดยหลังจากยื่นแผนฟื้นฟูและศาลไต่สวนแล้วให้เห็นชอบแผนฟื้นฟู THAI ก็เริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูได้ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี จะออกจากแผนฟื้นฟูได้ หากสถานการณ์โควิดไม่กลับมาซ้ำเติมอีก

“ผมเชื่อว่าวันนี้ นายกรัฐมนตรีตัดสินใจอย่างนี้เป็นสัญญาณที่ดี ซึ่งเจ้าหนี้ก็รู้สึกว่าเราไม่ได้หนี และเราเชื่อว่าเราฟื้นได้ ไปดู 6 Business Unit…วันนี้ยอมรับว่าองค์กรการบินไทยอ้วน พออ้วนแล้วขาเล็ก ก็ล้ม เรื่องนี้เป็นสัญญาณที่ดีที่สุด เราไม่ได้ให้การบินไทยล้มละลาย เราไม่ได้ทำให้ประเทศชาติรับภาระแก้ไข เสียเงินฟรี” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมจะนัดหารือกับสหภาพแรงงานการบินไทย ภายในสัปดาห์นี้เพื่อร่วมกันหาทางออกต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ค. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top