สำนักวิจัยเห็นพ้อง กนง.ลดดอกเบี้ยรอบนี้พยุงเศรษฐกิจ

หลายสถาบันประสานเสียงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 20 พ.ค.มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากปัญหาไวรัสโควิด-19 ชี้แม้ลดดอกเบี้ยไม่ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ช่วยส่งผ่านการลดต้นทุนทางการเงินให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนได้ ขณะที่มอง GDP ปี 2563 ติดลบแน่นอน โดยไตรมาส 2 จะเป็นช่วงต่ำสุดของปีนี้

สำนักวิจัยสถาบันการเงินคาดการณ์มติ กนง. (20 พ.ค. 63)คาดการณ์ GDP ปี 63
ธนาคารกรุงศรีอยุธยาลดดอกเบี้ย 0.25%-5.0%
TMB Analyticsลดดอกเบี้ย 0.25%ติดลบ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยลดดอกเบี้ย 0.25%-5.0%
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ลดดอกเบี้ย 0.25%ติดลบ
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS คงดอกเบี้ย-8.8%

น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบวันที่ 20 พ.ค.63 นี้ กนง.จะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% จากปัจจุบันที่ระดับ 0.75% มาเหลือที่ 0.50% เนื่องจากขณะนี้ทุกภาคเศรษฐกิจในประเทศ ต่างได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต, ภาคบริการ, การบริโภค และการลงทุน

จึงเชื่อว่า กนง.จะพิจารณานำเครื่องมือทางการเงินนี้ออกมาใช้ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนให้ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ และภาคครัวเรือน

“การคงดอกเบี้ยไว้ในรอบนี้ น่าจะยากมาก เพราะตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวโดนผลกระทบจากโควิดแรงกว่าที่คาด เชื่อว่า กนง.น่าจะนำเครื่องมือในการลดดอกเบี้ยออกมาใช้ แม้จะยังมีเหลือจำกัด แต่ก็ยังมีโอกาสทำได้ เพื่อส่งผ่านไปยังธนาคารพาณิชย์ในการช่วยลดต้นทุนให้แก่ภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน…เชื่อว่าลดแน่ แต่หากจะเซอร์ไพร์สตลาด คือต้องลดถึง 0.50%”

น.ส.รุ่งกล่าว

พร้อมระบุว่า หลังจากปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้แล้ว คาดว่า กนง.น่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ต่อไปอีกอย่างน้อยภายใน 2 ปี โดยในระหว่างนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมทั้งกระทรวงการคลัง คงต้องหามาตรการที่เฉพาะเจาะจง เพื่อเข้าไปเยียวยาและช่วยแก้ปัญหาด้านสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการให้ตรงจุดมากขึ้น ส่วนมาตรการต่างๆ ที่ได้ออกมาแล้วนั้น มองว่าเป็นการช่วยประคองให้ภาพรวมเศรษฐกิจไม่ทรุดลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่ยังไม่ได้มีแรงส่งมากพอที่จะช่วยฉุดหรือกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับไปอยู่ในภาวะที่ปกติได้

น.ส.รุ่ง ยังคาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้มีโอกาสหดตัวถึง -5% โดยในไตรมาสแรก GDP หดตัวลงแล้ว และคาดว่าจะหดตัวมากสุดในไตรมาส 2 ที่ -8.3% เนื่องจากเป็นช่วงที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่จากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 จากนั้นเศรษฐกิจไทยจะค่อยเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ แต่ยังไม่ถือว่ากลับเข้าสู่ภาวะปกติ

พร้อมมองว่า มาตรการล็อกดาวน์ที่มีการสั่งปิดกิจการบางประเภทเป็นการชั่วคราว แม้จะมีผลกระทบอย่างมากมายมหาศาลต่อด้านเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้ด้านสาธารณสุขของไทยประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยประเทศไทยถือว่ามีการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ดีอยู่ในอันดับต้นๆ อย่างไรก็ดี ภาครัฐอาจจะต้องพิจารณาเพื่อช่วยทำให้ทั้ง 2 ด้านดังกล่าวมีความสมดุลมากกว่านี้

“ตอนเริ่มล็อกดาวน์อยู่ในช่วงปลายไตรมาส 1 แต่พอเข้าไตรมาส 2 เศรษฐกิจได้รับผลกระทบไปเต็มๆ เชื่อว่าจะเป็นจุดที่ต่ำสุดของปีนี้ แต่น่าจะเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในไตรมาส 3 ไตรมาส 4…เรารับมือได้ดีมากในทางการแพทย์ สาธารณสุข แต่ในทางเศรษฐกิจ เราได้รับกระทบอย่างมากมายมหาศาลจากการล็อกดาวน์ คงต้องหาจุดร่วมหรือหาสมดุลที่มากกว่านี้ ระหว่างด้านสาธารณสุขกับด้านเศรษฐกิจ” น.ส.รุ่งระบุ

ด้านนายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย (TMB Analytics) คาดว่า กนง.วันนี้จะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ซึ่งจะเป็นการส่งผ่านเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยลดภาระต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ให้ทั้งในส่วนของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน เพราะแม้ผู้ประกอบการและประชาชนจะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้จากธนาคารพาณิชย์แล้ว แต่ในส่วนของภาระดอกเบี้ยยังคงมีอยู่

นอกจากนี้ มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในปีนี้มีโอกาสจะกลับทิศไปเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) ซึ่งหากพิจารณาถึงอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในปัจจุบันแล้ว ดังนั้นจึงยังพอจะมีช่องว่างในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก 0.25% ในการประชุมรอบนี้ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยลงมาสู่ระดับ 0.50%

“การลดดอกเบี้ยรอบนี้ กนง.คงไม่ได้หวังผลว่าจะช่วยเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่คงเป็นการส่งผ่านไปยังธนาคารพาณิชย์เพื่อช่วยเรื่องการลดดอกเบี้ยให้แก่ภาคธุรกิจ และครัวเรือน คงไม่ได้หวังว่าลดดอกเบี้ยแล้วจะมีคนมาลงทุนเพิ่มในตอนนี้”

นายนริศระบุ

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ หลังจากที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ปรับลดประมาณการ GDP ปี 2563 ลงเหลือ -6 ถึง-5% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 1.5-2.5% นั้น ในมุมมองของ TMB Analytics ก็คาดว่ามีโอกาสจะเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบในระดับดังกล่าว เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นับตั้งแต่ไตรมาส 1 ซึ่งคาดว่าจะยาวต่อเนื่อง และคงยังไม่เห็นการฟื้นตัวได้ภายในปีนี้

นอกจากนี้ การลงทุนในประเทศก็ชะลอตัว ไม่มีการลงทุนใหม่ๆ เข้ามา อีกทั้งมาตรการล็อกดาวน์ยังส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายตัวหยุดชะงัก โดยเฉพาะในเรื่องของการบริโภคที่ชะลอตัวลง ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมากในช่วงครึ่งปีแรกนี้

“ในส่วนของ TMB Analytics ขอประเมินตัวเลข GDP ปีนี้อีกครั้ง หลังจากที่สภาพัฒน์ปรับลด GDP ลงเหลือ -6 ถึง -5% แต่ตัวเลขนี้เรามองว่ามีโอกาสที่จะเป็นไปได้ ทั้งปีคงติดลบแน่นอน ไม่มีโอกาสจะเป็นบวก และ GDP น่าจะลงไปลึกมากในช่วงไตรมาส 2” นายนริศกล่าว

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 20 พ.ค.นี้ กนง.จะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% จากระดับปัจจุบันที่ 0.75% มาอยู่ที่ 0.50% ตามภาวะเศรษฐกิจที่เผชิญความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเศรษฐกิจไทยหดตัวที่ -1.8% ในไตรมาส 1/63 และมีแนวโน้มที่จะหดตัวในอัตราที่เร่งขึ้นในไตรมาส 2/63 ขณะที่ทั้งปีคาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจหดตัวราว -5% ในปีนี้

“ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน กนง. จึงน่าจะให้น้ำหนักกับเป้าหมายด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องอื่นๆ ซึ่งนโยบายเหล่านี้น่าจะช่วยลดภาระทางการเงินของธุรกิจให้ประคองตัวผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปได้” บทวิเคราะห์ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าหากมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้แล้ว กนง.น่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.5% ตลอดในช่วงที่เหลือของปีนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่สถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีไม่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากเรื่องการแพร่ระบาดของโรค ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันเริ่มมีทิศทางที่สามารถควบคุมได้ และหากไม่มีการระบาดซ้ำอีกระลอก คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 และจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ส่งผลให้ กนง. อาจจะยังไม่มีความจำเป็นที่จะปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มเข้าใกล้ศูนย์จะส่งผลให้ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy space) มีจำกัด รวมถึงประสิทธิผลของการดำเนินนโยบายที่ลดลง ขณะที่มาตรการทางการคลังที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาด และช่วยประคองเศรษฐกิจได้รวดเร็วกว่า

ด้านนายมานะ นิมิตรวานิช นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 63 อาจหดตัวราว -8.8% แม้ว่าจากการรายงานล่าสุดของสภาพัฒน์ เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกหดตัว -1.8% ซึ่งยังหดตัวน้อยกว่าที่ตลาดคาดที่ -3.9% พร้อมคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัวลึกสุดในไตรมาสที่ 2 ที่มีการระบาดรุนแรงที่สุด พร้อมกับความเข้มข้นของมาตรการเฝ้าระวังการควบคุมโรค ก่อนที่เศรษฐกิจจะหดตัวน้อยลงในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ตามลำดับ สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มคลี่คลายขึ้น

ทั้งนี้ การหดตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/63 ที่ต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้คาดว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.75% ในการประชุมวันที่ 20 พ.ค.นี้ แต่มองว่า กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะเกิดขึ้นในไตรมาส 2 เนื่องจากเป็นไตรมาสที่เศรษฐกิจโลกรวมทั้งไทยได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคของประเทศต่างๆ มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม หากการแพร่ระบาดเกิดขึ้นทั่วโลกอีกครั้ง อาจฉุดให้เศรษฐกิจไทยปี 63 ให้หดตัวได้มากถึง -11.7% สะท้อนบทเรียนของหลายประเทศที่สามารถควบคุมการระบาดได้แล้วก่อนหน้านี้ แต่กลับต้องเผชิญกับการระบาดอีกครั้งจากการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ซึ่งหากการระบาดเกิดขึ้นอีกครั้งจนทำให้ต้องมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาจทำให้ GDP หดตัวหนักขึ้น และทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจช้าลงไปอีก

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากสุดในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ จากมาตรการปิดเมืองทั่วโลก ทำให้เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคส่งออกของไทยผ่านเศรษฐกิจโลกที่หดตัวและปัญหาด้านห่วงโซ่การผลิต โดยคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีมาตรการภาครัฐและมาตรการเปิดเมืองบางส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังมีความเสี่ยงสำคัญหากไวรัสโควิด-19 เกิดการระบาดซ้ำอีกระลอก ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจหดตัวเพิ่มเติมได้

“SCB EIC คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงครึ่งหลังของปี บนสมมติฐานสำคัญว่าจะต้องไม่มีการระบาดอีกรอบของโควิด-19 แม้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะมีแนวโน้มฟื้นตัวจากช่วงไตรมาส 2 (%QoQ sa เป็นบวก) แต่หากคำนวณเทียบกับปีก่อนหน้า คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวทั้งปี 2563 (%YOY เป็นลบ)” บทวิเคราะห์ระบุ

เนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และแนวโน้มการหดตัวที่น่าจะรุนแรงขึ้นในไตรมาสที่ 2/2563 รวมถึงการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปและมีความเสี่ยงด้านต่ำค่อนข้างมาก EIC จึงยังคงมุมมองการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 25 bps ในไตรมาสที่ 2/2563 และมีโอกาสค่อนข้างสูงที่ กนง.จะลดดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps ในการประชุมวันที่ 20 พ.ค.นี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top