หอการค้าไทย แนะภาคธุรกิจปรับตัวด้วยวิถีแบบใหม่ฝ่าวิกฤติโควิด

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าไทย เปิดสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “ร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-19 ด้วยวิถีธุรกิจแบบใหม่” ว่า ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้ประเมินว่าการแพร่ระบาดใหญ่ของเชื้อ โคโรนาไวรัส (โควิด-19) อาจจะทำให้เกิดความสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 5.8-8.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 6.4-9.7% ของ GDP โลก

ซึ่งถ้ากลับมาดูประเทศไทย คิดว่าประมาณ 1-2 เดือนที่ผ่านมาจะมีคนตกงานประมาณ 7 ล้านคน และถ้าสถานการณ์ยาว 3-4 เดือนขึ้นไปอาจจะมีคนตกงานเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ในวิกฤติทุกอย่างหอการค้าไทยมองว่าเป็นโอกาสเสมอ โอกาสที่พูดถึงคือการยกระดับมาตรฐานการบริการ เมื่อก่อนเน้นปริมาณ ยกตัวอย่างด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวปีละ 40 ล้านคน แต่ตอนนี้บริบทใหม่เน้นคุณภาพ สร้างความแตกต่าง สินค้าและบริการให้มีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไป วิธีการทำงานเน้นความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน การพัฒนาสินค้าและบริการ ให้มีความคิดสร้างสรรค์ให้โดดเด่นเพื่อสร้างความมั่นใจเป็นเรื่องสำคัญมาก

“วิกฤติครั้งนี้คงไม่ใช่วิกฤติสั้นๆ เดือนสองเดือนจบ แต่จะอยู่กับเราอย่างน้อย 1 ปีแน่นอน ทำอย่างไรให้การสร้างมาตรการเรื่องความปลอดภัยให้เป็นที่ยอมรับของทั้งในประเทศและต่างประเทศให้เกิดความมั่นใจในการก้าวต่อไปในอนาคตแบบ New Normal อย่างยั่งยืน” นายกลินท์ กล่าว

ทั้งนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทยได้ร่วมกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) สนับสนุนมาตรการหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด และได้ร่วมมือกับภาครัฐในการเสนอหลายอย่างๆออกไป และมาตรการสำหรับการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ มาตรการการเปลี่ยนผ่าน การปรับพฤติกรรมของประชาชน การเตรียมพร้อม การเปิดสถานประกอบการภายใต้สถานการณ์โควิด ข้อปฏิบัติพื้นฐานของสถานประกอบการ

พร้อมกันนี้เพื่อเป็นการรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมวิถีใหม่ ทั้งรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในสังคม ตลอดจนโมเดลธุรกิจและการทำงานในรูปแบบใหม่ ๆ จึงได้ร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์ม “ไทยดอทแคร์” (Thai.care) เพื่อช่วยในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ใช้บริการ โดยพัฒนามาจากแนวคิด “คนไทยร่วมกันแคร์” ซึ่งเป็นการประสานพลัง 3 แคร์ ได้แก่

1.ร้านค้าแคร์ โดยจะสร้างเครือข่ายของร้านค้าที่มีความห่วงใย ใส่ใจในบริการที่ปลอดภัย และจะมีการให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพ รวมทั้งรวบรวมตัวอย่างและนวัตกรรมดี ๆ เพื่อนำมาเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง

2.ลูกค้าแคร์ จะเปิดช่องทางการสื่อสาร และรับฟังความคิดเห็นจากลูกค้า เพื่อนำมาปรับปรุงร้านค้าและบริการได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งแจ้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รวมทั้งนำเสนอองค์ความรู้เพื่อการปรับตัวและสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่

3.สังคมแคร์ คือสังคมที่มีความสุขและมีความเอื้ออาทรต่อกัน ภายใต้แนวคิดของวิถีชีวิตแบบใหม่ New Normal ที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบและวิถีชีวิตของคนในสังคม รวมถึงโมเดลธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับการทำงานแบบใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว

นอกจากการทำงานในเชิงรุกของหอการค้าไทยฯ ที่ได้จัดกระบวนการเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการของสถานประกอบการแต่ละประเภทอย่างเหมาะสมตามมาตรการผ่อนปรนหรือคลายล็อกดาวน์ของรัฐบาลในแต่ละเฟส รวมทั้งแนวทางการป้องกันความเสี่ยงของสถานประกอบการ โดยได้มีการประเมินความเสี่ยงในแต่ละด้าน และจัดทำคู่มือสำหรับสถานประกอบการเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติพื้นฐานให้ผู้ประกอบการดำเนินการได้อย่างปลอดภัยและคล่องตัว

รวมถึงการส่งเสริมให้กิจการต่าง ๆ พัฒนาคุณภาพการให้บริการที่ตอบโจทย์ลูกค้า และผู้ใช้บริการสอดคล้องต่อความปกติใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคม ด้วยการสร้างวิถีธุรกิจแบบใหม่ ซึ่งการร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มไทยแคร์ในครั้งนี้จะเป็นอีกเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ ร้านค้า และประชาชน รวมไปถึงกระบวนการเปิดเมืองที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นใจและความสุขภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพราะไทยแคร์คือไทยห่วงใย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ค. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top