ส่งออกไทย เม.ย. ขยายตัว 2.12% นำเข้า -17.13% เกินดุล 2,462 ล้านเหรียญฯ

  • พาณิชย์ เผยมูลค่าส่งออกเดือน เม.ย. ขยายตัว 2.12% จากตลาดคาดการณ์ -4.6 ถึง -3%
  • ส่วนมูลค่านำเข้าเดือน เม.ย. หดตัว -17.13%
  • ดุลการค้าเดือน เม.ย. เกินดุล 2,462 ล้านเหรียญฯ

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน เม.ย.63 โดยการส่งออกมีมูลค่า 18,948 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.12% จากตลาดคาดว่าจะหดตัว -4.6 ถึง -3% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 16,486 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -17.13% ขณะที่ดุลการค้าเกินดุล 2,462.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับภาพรวมช่วง 4 เดือนแรกของปี 63 (ม.ค.-เม.ย.) การส่งออกมีมูลค่า 81,620 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 1.19% ส่วนนำเข้ามีมูลค่า 75,224 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -5.72% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 6,396 ล้านเหรียญสหรัฐ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกไทยในเดือนเม.ย.63 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แม้อยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 4.03% ตามความต้องการสินค้าอาหารของตลาดโลกในช่วงล็อกดาวน์ โดยเฉพาะสินค้าข้าวที่กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือน และขยายตัวสูงสุดที่ 23.10%

ประเด็นที่น่าจับตามองในเดือนนี้ คือการส่งออกทองคำที่ขยายตัวสูงจากการที่นักลงทุนเห็นสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จึงเปลี่ยนมาถือสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำในตลาดโลกทะยานขึ้นในระดับสูง โดยเดือนนี้ไทยส่งออกทองคำไปยัง 3 ตลาดหลัก คือ สวิตเซอร์แลนด์, สิงคโปร์ และฮ่องกง ขณะที่สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะราคาที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้มูลค่าการส่งออกชะลอตัว โดยเฉพาะในอาเซียนและ CLMV

อย่างไรก็ดี เมื่อหักมูลค่าสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัยแล้ว การส่งออกในเดือนเม.ย.63 หดตัว -7.53% ขณะที่การส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) หดตัวที่ -0.96%

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้สินค้าเกษตรและอาหารเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงในตลาดต่างประเทศ และคาดว่าจะเติบโตดีต่อเนื่องได้อีก 1-2 ปีซึ่งนับเป็นโอกาสในการขยายตลาดสินค้าเกษตรของไทย ส่วนการขนส่งสินค้าทางบกโดยเฉพาะตลาดอาเซียนที่มีการปิดด่านนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้ประสานกับประเทศคู่ค้า เช่น เวียดนาม ลาว มาเลเซีย โดยสามารถเจรจาลดอุปสรรคการส่งออกสินค้าตามแนวชายแดน ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าที่ใช้การขนส่งทางถนนเป็นหลัก รวมถึงสินค้าผักผลไม้ที่ไทยส่งออกไปจีนตอนใต้ โดยขนส่งผ่านประเทศเพื่อนบ้านด้วย

สำหรับแนวโน้มการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังเผชิญอุปสรรคด้านการขนส่งบริเวณท่าเรือที่แออัด และการขนส่งทางอากาศที่หยุดชะงัก ส่งผลให้สินค้ามูลค่าสูงที่ขนส่งทางอากาศ โดยเฉพาะอัญมณีและเครื่องประดับได้รับผลกระทบด้วย แต่คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหลังปัญหาการระบาดลดลง โดยประเทศต่างๆ ที่เริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว เช่น จีน เยอรมนี อิตาลี และนิวซีแลนด์ ที่ขณะนี้กำลังเริ่มต้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และในที่สุดจะทำให้กำลังซื้อของประเทศคู่ค้าเหล่านี้กลับมาขยายตัว เป็นผลดีต่อการส่งออกของไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์และส่วนประกอบที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง ก็คาดว่าจะกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังวิกฤติ

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกในช่วงไตรมาส 2 มีโอกาสติดลบแต่ไม่มากนัก เนื่องจากติดปัญหาที่หลายประเทศล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้ระบบโลจิสติกส์ในการส่งออกสินค้าต้องหยุดชะงัก โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์

“ไตรมาสสอง คิดว่าการส่งออกคงจะติดลบ แต่คงลงไม่มากอย่างที่หลายหน่วยงานคาดการณ์” ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ น.ส.พิมพ์ชนก ระบุว่า หากเป็นการส่งออกในภาวะที่ปกติจะพบว่าการส่งออกในช่วงหลังจากเม.ย.เป็นต้นไป จะส่งออกได้ราวเดือนละ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จะทำให้การส่งออกทั้งปีของไทยติดลบเพียงเล็กน้อยที่ -0.5% แต่เนื่องจากในปีนี้ การส่งออกอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติเพราะมีปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีผลกระทบต่อโลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้าเข้าไปยังประเทศต่างๆ จึงทำให้คาดว่าการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ อาจทำได้มูลค่าไม่ถึง 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน

อย่างไรก็ดี ยังมีโอกาสที่การส่งออกไทยจะติดลบได้น้อยกว่า -0.5% จากปัจจัยของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกหากเฉลี่ยทั้งปีนี้อยู่ที่ระดับ 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล, แนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารและเกษตรของไทยจากอุปสงค์ที่ยังมีมากในตลาดโลก ประกอบกับเงินบาทที่อ่อนค่า ซึ่งเป็นผลดีต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรด้วย

“ถ้าส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้ไม่ถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน ก็มีโอกาสที่ทั้งปีจะติดลบมากกว่า -0.5% แต่ปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งเรื่องราคาน้ำมัน เทรนด์สินค้าอาหาร และเงินบาทที่อ่อนค่า พอจะช่วยเสริมได้บ้าง และต้องไม่มีปัจจัยอื่นๆ เข้ามากดดันเพิ่มด้วย โดยเฉพาะ trade war รอบใหม่” น.ส.พิมพ์ชนกระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top